ประัชาชนใฝ่ฝันอะไร?

“สภาประชาชน” ผู้คนรู้สึกและมีความเห็นกับเรื่องนี้ไปต่าง ๆ นานา ตามประสบการณ์ ความเชื่อ ความรู้ การให้ความหมายและตีความของตน หลายคนรู้สึกว่าเรื่องนี้คือทางออกสู่อนาคต “ฟ้าสีทอง ผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในขณะที่อีกหลายคนยังแคลงใจว่าเรื่องนี้ทำได้หรือ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ อีกหลายคนขัดใจกับการนำเสนอสิ่งนี้
เป็นเรื่องที่ดี ที่ “สภาประชาชน” ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงความรู้สึก ความเห็น ข้อกังวลและคำถามต่าง ๆ แม้ยังไม่เกิดสภาประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม เพราะหนึ่งในเจตนำนงสำคัญของสภาประชาชน คือ ชักชวนให้ผู้คนทั้งหลายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันความหวัง ความฝัน เพื่อนำไปสู่การออกแบบสภาประชาชน ที่รับใช้สังคมไทยโดยส่วนรวม และร่วมกันลงมือทำในส่วนที่จะร่วมสร้างสังคมดี ที่ทุกคนปรารถนาจะอยู่ร่วมกัน
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ แห่งสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (CivicNet) ได้ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ ออน์ไลน์เรดิโอ (posttodayradio) เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ในบางประเด็นเกี่ยวกับ “สภาประชาชน”

chaiwat01

โพสต์ทูเดย์ เรามาคุยกันถึงแนวทางที่คุณสุเทพได้คุยไว้เรื่อง มาตรา ๓ ต่อด้วยมาตรา ๗ และเป็นที่มาของสภาประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ สามารถทำได้หรือไม่คะ

อาจารย์ ชัยวัฒน์ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และได้พูดคุยกันหลายครั้งหลายหนแล้วว่า มันทำได้ครับ เพราะมันเป็นสถานการณ์พิเศษ แล้วมาตรา ๓ มอบอำนาจอธิปไตยให้มวลชน ส่วนมาตรา ๗ ก็เปิดกว้างเต็มที่ว่าเราสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้อยู่ที่เจตจำนงมากกว่า หลายๆเรื่องไม่ควรจะปล่อยให้ข้อบัญญัติบางอย่าง ซึ่งตีความไปทางไหนก็ได้เป็นการจำกัดตัวเอง ผมว่าเจตจำนงสูงสุดเป็นตัวสำคัญมากกว่า

 
โพสต์ทูเดย์ เจตจำนงในความหมายของอาจารย์คืออะไร
อาจารย์ ชัยวัฒน์ เจตจำนงไม่ใช่ของผมคนเดียว ถามว่า ประชาชนใฝ่ฝันอะไรมาตั้งแต่ ๒๔๗๕ ตั้งแต่อาจารย์ปรีดีทำขึ้นมา และ ๑๔ ตุลา ที่นักศึกษา ประชาชนเรียกร้องขึ้นมา พฤษภาทมิฬก็ดี อันนี้เป็นเจตจำนงที่สืบทอดกันมาใช่ไหม สายธารประวัติศาสตร์ไม่เคยสิ้นสุด ประชาชนใฝ่ฝันอะไร
คุณคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอะไร การเมืองที่ดีใช่ไหม นักการเมืองที่ดีใช่ไหม อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปั้นแต่งอนาคตสังคมไทยจริงไหม อันนี้พูดกับแบบหัวใจตรงๆ ไม่นับสี อันนั้นแหละคือเจตจำนงอันสูงสุด แต่คนไม่กล้าทำ บอกทำไม่ได้ ติดนั่นนี่โน่น
ท้าวความนิดนึง ผมยังจำได้หลัง ๑๔ ตุลาเรามีพรรคการเมืองหลายพรรคหลายฝ่าย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ จำได้ไหม แล้วก็ชาติไทย ประชาธิปัตย์ ฯ แต่ต่อมาพรรคฝ่ายก้าวหน้าของประชาชนก็หายไปจากแผ่นดินไทยเลย เพราะระบบทุนเข้ามาครอบงำทุกพรรคการเมือง และไม่มีการถ่วงดุลอำนาจแห่งประชาชน จริงไหม มันเป็นพรรคการเมืองของนักการเมืองทุกพรรค ที่ภาษาอังกฤษเรียก Plutocracy ซึ่งบัญญัติอยู่แล้วในศัพท์ทางรัฐศาสตร์
Plutocracy คืออำนาจของคนมีเงิน ใช้เงินเป็นอำนาจ และทำพรรคการเมืองและใช้การเมืองตอบสนองผลประโยชน์ของตน จริงไหม เราต้องการทลุทะลวงไหม …และนี่คือโอกาสครั้งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เจตจำนงมีโอกาสเป็นจริง แล้วทำไมไม่ช่วยกันคิดล่ะว่ามีความเป็นไปได้กี่ทาง ที่จะทำให้มันเป็นไปได้ มันไม่ได้เป็นของใครสักคนเลย
คนที่ทำทั้งหมด ที่จะมาเป็นสภาประชาชนต่อไปเขาจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองกับพรรคการเมืองเลย เราต้องการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด สร้างบ้านให้เรียบร้อย อาจจะสร้างไม่เรียบร้อย แค่วางรากฐานให้มั่นคงแล้วให้คนอื่นมาเติมต่อ ให้ ประเทศไทยก้าวไปถูกครรลอง ตรงนี้มันเป็น democracy ที่แท้จริง ไม่ใช่ plutocracy

 

โพสต์ทูเดย์ แสดงว่าหลักคิดของอาจารย์ก็คือเอาเจตจำนงเป็นตัวตั้ง แล้วที่รัฐบาลบอกว่า ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ผิดหลักรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาแก้ตรงนั้นกัน
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ไม่ใช่มาแก้ รัฐบาลนี้ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่บ้าง ขอถามหน่อย พฤติกรรมที่ผ่านมา ๒-๔ ปีที่ผ่านมาคืออะไร ให้มองความจริง ข้อมูล ตัวเลขทั้งหลาย แม้กระทั่งอำนาจศาลก็ไม่ยอมรับ ตัวนายกก็ไม่ยอมรับ สภา สส. สว. ก็ไม่ยอมรับ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอมรับศาล แล้วที่ทำมา ทำทำไม จริงไหม ตรงนี้การกระทำแสดงถึงเจตจำนงที่แท้จริง คุณคิดจะปกป้องผลประโยชน์ของคุณเท่านั้น จริงไหม

 

โพสต์ทูเดย์ นอกจากข้อเสนอของคุณสุเทพที่บอกว่า กปปส.ระดับจังหวัด
อาจารย์ ชัยวัฒน์ เราอยากให้ประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วม ซึ่งจะตามมา อันนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะทำเรื่องของประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้ทุกระดับ แน่นอนว่าช่วงต้นๆจะไม่ perfect (สมบูรณ์) แต่ทิศทางมันไปอย่างนั้นแน่นอน
ทิศทางคือว่าอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเอง เพราะว่าหัวใจของ democracy is problem solving ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาของประชาชน และประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพราะบางครั้งนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งเองก็ไม่ได้ทำตามเจตจำนงค์ของประชาชนเสมอไป เราก็ต้องสร้างเครื่องมือ สร้างโครงสร้าง สร้างกระบวนการให้ประชนชนได้แสดงออกจริงๆ โดยไม่ถูกไม่บิดเบือน จริงไหมครับ
บางครั้งเป็นเรื่องประชาธิปไตยทางตรง บางครั้งก็เป็นเรื่องประชาธิไตยทางอ้อม ก็ใช้มันทั้ง ๒ อย่าง เหมือนหยิน-หยาง เป็นเต๋าเลย ทำไมเราไม่คิดขึ้นมาล่ะ แต่อย่ามาบอกว่า โอ๊ย ไม่เคยมีมาก่อน อยากจะบอกว่า ประชาธิปไตยก็ไม่มีมาใน ๑๐๐๐ ปีก่อน เมื่อ ๑๐๐ ปีมันก็ไม่เคยมีมาก่อน ทุกอย่างมันเป็นนวตกรรม สิ่งที่ท้าทายมาก จากการสังเกตนักวิชาการจากคนต่างๆ เราไม่กล้าแม้ที่จะฝัน แม้ที่จะฝันว่าคนไทยมีความสามารถที่จะสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่น่าสนใจได้ ซึ่งในหลายประเทศเขาก็ทำในสไตล์ของเขา อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ทำไมเราจะทำในสไตล์ไทยๆไม่ได้ล่ะ มันอยู่ที่เรากล้าที่จะฝัน กล้าจะสร้าง vision ประเทศไทยไหม สิ่งสำคัญมันอยู่ตรงนี้ การเมืองเป็นการระดมเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ของแผ่นดิน

 

โพสต์ทูเดย์ ดูเหมือนว่าเราต้องกล้าที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถูกต้อง เราต้องมีความกล้าหาญจะเดินทางสิ่งดีสิ่งงาม และหัวใจและความถูกต้องของประชาชน ซึ่งความกล้าหาญ ความปรารถนานี้มันหายไปประมาณ ๓๐ ปี มันหมดหวัง สิ้นหวัง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองน้ำเน่าล้อมซะจนทำให้เราหมดกำลังใจ จริงไหม

 

โพสต์ทูเดย์ ตอนนี้ที่เห็นประชาชนที่ลุกขึ้นมาตอนนี้ ดูเหมือนจะมีความความหวังเรืองรองขึ้นมาหรือยัง
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถามคุณเองเลย คุณมีความหวังเรืองรองขึ้นมาหรือเปล่าล่ะ ถามหัวใจคุณเองเลย ถามแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ คนไทยต่อคนไทย คุณมีไหม

โพสต์ทูเดย์ ดิฉันก็มีค่ะ

อาจารย์ ชัยวัฒน์ นั่นแหละ หัวใจคุณบอก หัวใจผมบอก และหัวใจอีกกี่ล้านคนล่ะที่บอก ทำไมเราไม่มาสร้างความฝันร่วมกันล่ะ กระบวนการนี้ไม่มีสีเสื้ออีกแล้ว เรามีแต่ประเทศไทย แผ่นดินไทย ความรักประเทศชาติ แล้วมาเชื่อมกัน แล้วเมื่อทะลวงสำเร็จ เราก็ต้องเอาความใฝ่ฝันของเรา และเราจะอยู่อย่างไรในอาเซียน และเราจะวางตำแหน่งอย่างไรในเอเชียและโลก เราต้องกล้าฝันไปถึงตรงนั้นแล้ว โลกมันโลกาภิวัฒน์ นี่ล่ะคือความท้าทายที่สุด แต่คนไม่พูดถึง นักวิชาการ นักกฎหมายจะพูดถึงบทบัญญัติตรงโน้นตรงนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ถูกสร้างด้วยพลังใจร่วมกัน ความใฝ่ฝันร่วมกันทั้งสิ้น มันเป็นนวตกรรมทางการเมืองสังคม และวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า มันขึ้นอยู่กับในช่วงวันเวลานี้อีกไม่นาน ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและอยากจะทำด้วยกัน

 

โพสต์ทูเดย์ สถานการณ์และแนวทางที่อาจารย์ให้ประชาชนเข้ามาบริหารการปกครอง จะเป็นไปได้หรือ
อาจารย์ ชัยวัฒน์ มันเป็นไปได้ อาจจะไม่ absolutely (เบ็ดเสร็จสมบูรณ์) ทันทีทันใด ๑๐๐% เสียทีเดียว แต่เราวางรากฐานได้ โดย กปปส.จะทำหน้าที่ชั่วคราว อาจจะ ๑ ปี หรือ ๑ ปีครึ่งก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทยต่าง ๆ ด้วย ระหว่างนั้นก็มีรัฐบาลรักษาการซึ่งเป็นกลาง ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองใดๆเข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งคนเหล่านี้พอหมดภาระกิจก็ต้องถอยกลับบ้านไปทำงาน ทำหน้าที่ตัวเองเหมือนเดิม ซึ่งในระหว่างนั้นก็ต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งหัวข้อการปฎิรูปประเทศไทยมีมันเยอะแยะเต็มไปหมด ขอให้รวบรวมขึ้นมาและทำให้เป็นจริงเท่านั้นเอง อาจจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุก ๆ เรื่อง แต่ว่ามันจะไปโยงใยกับอำนาจของประชาชนที่ตื่นรู้ขึ้นมาในที่ต่างๆ แล้วเขาอยากจะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ยกตัวอย่างง่ายๆ โครงการจัดการน้ำ คงจะทราบกันดีว่า คนจำนวนมากที่เดือดร้อนจริงๆถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ อันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยต้องเอาข้อมูลมานั่งถกกันว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรใช่หรือไม่ใช่ แต่นี่มันกีดกัน มันจะเอาให้ได้เลย ๓.๕ แสนล้าน ตามเจตนารมย์ของ plutocracy อย่างเดียวเลย จริงไหม นี่ตัวอย่างง่ายๆเลยจริงไหม (ค่ะ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น ซึ่งต่อไปผมยืนยันได้เลยว่าการแก้ปัญหาของชาติคือการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่น เพราะรัฐบาลกลางไม่มีทางเข้าใจหลายเรื่อง รัฐบาลกลางอาจจะคุมไม่กี่เรื่อง อาจจะคุมเรื่องนโยบายต่างประเทศ การเงินการคลัง การป้องกันประเทศ แต่หลายๆเรื่อง ประชาชนเขาฉลาดพอ รู้เรื่องพอที่จะแก้ปัญหาได้ และยิ่งมีระบบดิจิตอลที่ถ่ายทอด คนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่จะเร็วมาก อันนี้แหละคือโอกาสของสิ่งใหม่ เรากำลังจะสร้างประชาธิไตยในศตวรรษที่ ๒๑ ในโลกยุคติจิตอล

ทุกข์แล้ว…เปลี่ยน ?

อะไรคือเหตุผลที่เราควรสนับสนุนรัฐบาล … ครุ่นคิดนึงถึงเวลาจ่ายตลาด … เช็ดน้ำตาเวลาซื้อไข่ไก่ ฟองละเกือบ 6 บาท .. ซื้อหมูก็สะดุ้ง แพงเหลือ ซื้อถั่วฝักยาว 3 เส้น 10 บาท ก๊าซหุงต้มก็ขึ้นราคา เติมน้ำมันก็ต้องปาดเหงื่อ ข้าวก็เน่า … คนรายได้น้อยจะกินอะไรกัน เขาจะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร … นี่แค่ “ทุกข์” หนังตัวอย่าง น้ำจิ้ม …

เราไม่หวังในนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด แต่ข้าพเจ้าเชื่อใน “ความเป็นเรา” ทุกคน เราอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร เราจะอยู่กันอย่างไร เรามาช่วยกันคิดและช่วยกันทำ บางที ทุกข์ที่เผชิญร่วมกันมาหลายปี และในปัจจุบันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี …. ให้เป็นสังคมแห่งการเกื้อกูลดูแลกัน เคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน คนเก่งต้องดูแลคนเก่งน้อยกว่า คนมีมากต้องแบ่งปันให้คนมีน้อย คนเสียงส่วนมากต้องรับฟังและให้เกียรติดูแลเสียงส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ของประเทศดูแลช่วยเหลือคนส่วนน้อยให้มีที่ทางในสังคม

ความตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง คุนดุน (องค์ทาไล ลามะ) “อหิงสาใช้เวลา” บางที ถนนสายปฏิรูปเองก็ใช้เวลาด้่วยเช่นกัน เวลาเผชิญทุกข์ เราอยากขจัดมันไปเร็ว ๆ แต่ยิ่งพยายามทำลายมันเร็ว (ด้วยยาแรง) ผลข้างเคียงก็มาก — “เราจะอยู่กับทุกข์นี้อย่างไร ต้องทำอะไร เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านลบน้อยที่สุด และอาจรังสรรผลสะเทือนด้านบวกได้?” เราถามตัวเอง “ได้เวลาแก้กรรมกันหรือยัง?”

สิ่งที่เราก่นด่าว่า “ชั่ว” เราต้องไม่ให้เกิดในตัวเรา 
ทำงาน เรียนหนังสืออย่างสุจริต และไม่ยอมให้ตัวเองเข้าไปเกี่ยวในความฉ้อฉลคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ไม่จ่ายส่วย ไม่จ่ายเ้งินใต้โต๊ะ ไม่ลอกข้อสอบ ฯลฯ
ทำอะไรก็คิดถึงส่วนรวมก่อนส่วนกู คิดถึง “หลักการ” มากกว่า “หลักกู” ไม่โกหกเพื่อเอาตัวรอด เมื่อทำผิดพลาดไปก็ขอโทษสำนึกผิด และแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว …
ฯลฯ

เราเชื่อว่า คนมีความดี และความคิดดี เราฝันที่จะเห็นคนที่สนใจในเรื่องต่้าง ๆ ที่ดีงาม มาระดมสมองและหัวใจในวงต่าง ๆ หันหน้ามาคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันคิดว่าเราจะปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร และช่วยกันทำ 

  • เรามาช่วยกันออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรม ดูแลทุกข์สุขให้คนทุกคน ตำรวจรับใช้ประชาชน และระบบสังคมดูแลตำรวจให้มีเกียรติและมีกิน (โดยไม่ต้องแบมือขอคนอื่น)
  • เรามาช่วยกันออกแบบระบบการศึกษาที่ทำให้คนอิ่มเอมกับความเป็นมนุษย์ เคารพในตัวเอง มีทักษะศักยภาพ และหัวใจที่จะพึ่งตัวเองและดูแลผู้อื่นและโลก ครูต้องเป็นอาชีพรายได้ไม่อัปลัษณ์ คนเป็นครูมีความสามารถและหัวใจ
  • เรามาปฏิรูปศาสนา (พุทธศาสนา) ให้เป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ ทางปัญญา ทางสังคมได้จริง พระอยู่ในกรอบพระวินัยและพระธรรม ปฏิบัติตนให้สมกับข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมดูแล และญาติโยมก็ไม่ทำให้พระเสียคนด้่วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขจนเกินพระวินัย
  • เรามาช่วยกันออกแบบระบบสาธารณสุขที่มีหัวใจ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนให้ดี เป็นพลเมืองที่มีความสุข แข็งแรงทั้งกายและใจ
  • เราจะปฏิรูปการเมือง รัฐสภาให้นักการเมืองเป็นผู้รับใช้ประชาชน รับใช้ส่วนรวม เป็นผู้เสียสละ และประชาชนตรวจสอบการทำงาน และการใช้งบประมาณของรัฐอย่างใกล้ชิด (ผ่านระบบออนไลน์อันโปร่งใส เข้าถึงได้ทั่วไป)
  • เราจะปฏิรูปการเกษตรให้เกษตรกรเป็นไท มีที่ดินทำกิน พึ่งตนได้ … เราจะดุแลทรัพยากรป่าไม้ สายน้ำ แร่้ธาตุให้ทุกคนได้รับประโยชน์ และธรรมชาติก็ได้รับประโยชน์ด้วย …..
  • เราจะดูแลสัตว์ในเมือง และสัตว์ในป่าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเป็นคน
  • ฯลฯ 

เราฝันและหวังจะทำสิ่งที่คิดกับผู้ที่มีฝันและความคิดร่วมกัน ทำได้แค่ไหนก็เท่านั้น … “อหิงสาใช้เวลา” … ชีวิตคนเราสั้น แต่ความฝันอาจยาว หา่กเราส่งผ่านความฝันอันงดงามจากรุ่นสู่รุ่น แม้เราอาจจะไม่ได้ลิ้มรสฝันนั้นเมื่อสักวันฝันเป็นจริงก็ตาม … เราไม่ได้ฝันเพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนที่จะได้อยู่ในวันหน้า …. เหมือนอย่างที่บรรพบุรุษได้ทำมาแล้วในอดีตให้พวกเรา