ปฏิบัติการสร้างฝันให้เป็นจริง (Project of Hope) หัวใจของสภาประชาชน : สนามพลังความเป็นมนุษย์

สภาประชาชนเป็นนวัตกรรมของสังคมมนุษย์ เพื่อเรียนรู้การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย สร้างสรรค์ และเกื้อกูลร่วมทุกข์และสุขกัน

ในเวลานี้ หลายคนงุนงง สับสน คิดนึกไปต่าง ๆ ว่า “สภาประชาชน” “สมัชชาประชาชน” ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไร … ก่อนที่ความสงสัยจะพาเราเตลิดไปไกล ขอลองดึงความคิดมาที่คำถามพื้นฐานว่า สภาคืออะไร ความเป็นสภาหมายถึงสิ่งใด อะไรคือผลผลิตหรือดอกผลของสภา

ในฐานะนักบันทึกความรู้ทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติในเวทีฝึกอบรม และถอดบทเรียน ข้าพเจ้านึกถึงครั้งที่ร่วมสังเกตการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการพัฒนากลไกสมัชชาสุขภาพ ที่จังหวัดพิษณุโลก คราวนั้น วิทยากร คือ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ โยนคำถามที่เราคิดว่า รู้เป็นอย่างดีแล้ว กลับมาให้เราถามตัวเอง สมัชชาคืออะไร

“การประชุมไม่ใช่กิจของสมัชชา แต่การประชุม คือ สมัชชา ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Assembly หมายถึง การรวมตัว การประชุมกันของผู้คน” อาจารย์ชัยวัฒน์กล่าว

ไม่มีอารยธรรมใดเลย ที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยปราศจาก “สภา” หรือ “สมัชชา” พื้นที่ที่ผู้คนมานั่งล้อมวง สนทนากันในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับทุกคน ร่วมกันแก้ไขปัญหา วางกฏกติกา แบ่งหน้าที่และจัดสรรประโยชน์ทรัพยากรที่มีร่วมกัน ฯลฯ

แม้ในยุคทันสมัยอันซับซ้อนเช่นเวลานี้ ความเป็นสภาแบบที่มีมาแต่อดีตกาลก็ยังมีอยู่ และทวีความหมายและความสำคัญขึ้น เนื่องจากความท้าทายปัญหาต่าง ๆ เรียกร้องให้เราหันหน้ามาคุย และลงแรง ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาร่วมกัน เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นตัวอย่างที่ย้ำบอกเราว่า วัฒนธรรมสภา และ “ลงแขก” เป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ชี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ (และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) คือ ความเห็นอกเห็นใจ การอยู่รวมกัน การช่วยเหลือดูแลกันและกัน และการโหวตในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยกัน

ฉะนั้นแล้ว สภาประชาชนที่พูดถึงกันอยู่ในเวลานี้จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดทางสังคม

สภาไม่ใช่อาคารสิ่งก่อสร้าง หรือกลุ่มคนที่มาอยู่รวมกัน แล้วแปะป้ายว่า “สภา” แต่ สภา คือ สนามพลังแห่งความสัมพันธ์และการสนทนาของคนที่มารวมตัวกัน ซึ่งดอกผลของการดำรงอยู่ร่วมกัน และการสนทนานั้น เป็น ปัญญาร่วม ความเจริญงอกงาม และความสุขสมบูรณ์ร่วมกัน

เราไม่ต้องแหงนมองเฉพาะสภาที่เป็นทางการ อย่างรัฐสภา แต่เราก่อร่างตั้งสภาประชาชนได้ในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกพื้นที่ ทุกเพศ ทุกวัย

ปัจจุบัน เรามีความเป็นสภาอย่างนี้อยู่แล้ว กระจายทั่วแผ่นดิน แต่ยังไม่พอ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะในแง่คุณภาพ สำหรับสภาภาคพลเมืองที่มีอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อสร้างผลสะเทือนเชิงลึกและยั่งยืน

ที่สำคัญ การดำเนินการสภาประชาชน ไม่ว่าระดับใด จำต้องคำนึงถึงหัวใจของความเป็นสภา 2 เรื่องหลัก ๆ คือ การประชุมและสนทนาที่มีคุณภาพและความหมาย และการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นทีม (collectivity) ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับเรื่องภาวะผู้นำในตน การฝึกฝนสภาวะจิต และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันเลยทีเดียว

(ตอนต่อไปจะได้แลกเปลี่ยนเรื่อง การประชุมและสนทนาที่มีคุณภาพและความหมาย)

ปฏิบัติการสร้างฝันให้เป็นจริง (Project of Hope) สภาประชาชน : รากแก้วประชาธิปไตย

ปัจจุบัน แนวคิด สภาประชาชนเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะที่มาของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในสภา สภาในลักษณะนี้สำคัญก็จริง แต่เราก็ไม่ควรลืมลักษณะของสภาประชาชนอีกแบบหนึ่ง — organic people’s assembly — ซึ่งอาจสำคัญและยั่งยืนมากกว่า สภาประชาชน ที่มีการเสนอว่า จะมีจำนวน 400 คน ด้วยซ้ำ

“คำว่าประชาธิปไตยนั้น มักจะเข้าใจความหมายกันผิดๆ ประชาธิปไตยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ” คำกล่าวของรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์

————————————

ระหว่างคำว่า “สภาผู้แทน” กับ “สภาประชาชน” คนตัวเล็ก ๆ อย่างข้าพเจ้ารู้สึกหัวใจพองโตกับคำว่า “สภาประชาชน” มากกว่า เพราะทำให้รู้สึกว่า เรามีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตและอนาคตของบ้านเมืองโดยตรง

ที่ผ่านมา สภาผู้แทนไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสียงของเรา ไม่ได้ทำหน้าที่ที่จะเอื้อประโยชน์กับส่วนรวม ซ้ำร้าย ผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเรา กลับกดขี่ข่มเหงเรา ทำตัวเหนือเราผู้ที่เลือกพวกเขาเข้าไปทำหน้าที่ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ปรารถนาให้ชนชั้นนำ หรือมีผู้อื่นคิดแทนประชาชน แนวคิดเรื่อง “สภาประชาชน” จึงเป็นโอกาสให้ประชาชนได้แผลงฤทธิ์ทางความคิด และการกระทำ โดยมีรัฐ ระบบราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่น และประเทศ คอยเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ทำสิ่งที่หวังให้เป็นจริง  

ข้าพเจ้าเชื่ออย่างเต็มหัวใจในพลังและศักยภาพของประชาชน และประชาธิปไตยทางตรง แต่ก็มีอีกหลายคำถามที่เราต้องเดินทางหาคำตอบไปด้วยกัน อาทิ สภาประชาชนเป็นอย่างไร กระบวนการทำงานของสภาเป็นอย่างไร บทบาทหน้าที่ควรเป็นอย่างไร เราจะเข้าร่วมในสภาประชาชนได้อย่างไร ใครคือผู้ที่จะอยู่ในสภาประชาชน ฯลฯ

ก่อนจะเดินไปข้างหน้า ซึ่งยังดูอึมครึม ข้าพเจ้าคิดว่า สมควรที่เราจะเหลียวไปข้างหลัง แล้วถามตัวเองว่า สภาประชาชนเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยหรือ

หากนับเอาเพียงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแค่ในช่วง 10-30 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการรวมตัวของคนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่เดียวกัน หรือผู้ที่สนใจประเด็นปัญหาเดียวกัน เราเห็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ประชาสังคมต่าง ๆ กลุ่มเยาวชน สหกรณ์ เครือข่ายโฉนดชุมชน สภาพลเมือง เครือข่ายประมงพื้นบ้าน สมัชชาสุขภาพ สมัชชาปฏิรูป ฯลฯ กลุ่มคน (พลเมือง) เหล่านี้รวมตัวกัน สนทนากัน นำเสนอกฏหมาย แนวทางปรับโครงสร้าง ระบบต่าง ๆ ในสังคม เพื่อเปิดทางสู่การปฏิรูปสังคมในประเด็นต่าง ๆ และสร้างสรรค์ทางใหม่ที่ดีในบ้านเมือง ผลของสมาคมภาคพลเมืองต่าง ๆ เหล่านี้นำความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับต่าง ๆ กัน มากบ้าง น้อยบ้าง

อ. ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้ที่คลุกคลีกับภาคประชาสังคมมากว่าสามทศวรรษ กล่าวว่า “บทเรียนของสมัชชาต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ แสดงเห็นชัดเจนว่า ประชาชนมีความสามารถ มีข้อมูล และความรู้ อีกทั้งเข้าใจปัญหาของพื้นที่และปัญหาของตนเองเป็นอย่างดี เมื่อใดที่ประชาชนได้มีโอกาสประชุมร่วมกันด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ ประชาชนก็สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา และมีแผนปฏิบัติการไปทำได้อย่างจริงจัง

ตัวอย่างรูปธรรมของสมัชชาประชาชนที่ผ่านมาแล้ว เช่น สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดและระดับภาค สมัชชาคุณธรรมอันเป็นสมัชชาระดับชาติ สมัชชาประชาชนประชาธิปัตย์ที่มีผู้เข้าร่วม 3,000 คนเมื่อเดือนตุลาคม 2548 และสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงวันนี้ ล้วนเป็นประจักษ์พยานของการได้ทดลองประชาธิปไตยแบบวิจารณญาณของประชาชนมาแล้ว เราจึงเชื่อมั่นได้ว่า จากบทเรียนดังกล่าว ถ้าได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เราก็จะทำให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนทุกระดับจนเต็มแผ่นดิน เป็นดอกไม้ประชาธิปไตยอันงดงาม บานสะพรั่งทั่วแผ่นดินไทย”

อาจารย์ชัยวัฒน์มักยกตัวอย่าง กลุ่มที่เรียกว่า study circles ในประเทศสวีเดน เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน รวมตัวกัน สนทนากันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ งานอดิเรก ศิลปะ จิปาถะ ไม่ว่าจะประเด็นอะไร หัวใจคือ ผู้คนเชื่อมความคิด สร้างความสัมพันธ์กัน เรียนรู้ร่วมกัน เมื่อสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานในวิถีชีวิต มันก็งอกงามเติบโตไปเป็นวิถีการสนทนาที่สร้างสรรค์ในประเด็นที่สำคัญมากขึ้น ในเรื่องการบ้านการเมือง

ชื่อไม่สำคัญ เราจะเรียก สภา สมัชชา หรือกลุ่ม สหกรณ์ อะไรก็ตาม แนวคิดหลัก คือ การรวมกลุ่มของผู้คน ประชาชน/พลเมือง ที่เอาธุระของชุมชน องค์กร บ้านเมือง มารวมตัว ประชุมสนทนาปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกัน

สภาแบบนี้ (organic people’s assembly) เหล่านี้ จึงถือได้ว่า เป็นรากฐาน หรือรากแก้ว ของความเป็นประชาธิปไตย ที่จะเกื้อกูลให้การดำรงอยู่ของสภาส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สภาประชาชนในความหมายอย่างนี้จึงเป็นเส้นทางและเป้าหมาย (means and ends) ที่เราต้องร่วมกันเดินไป ร่วมสร้างให้เกิด เติบโตและงอกงามทั่วแผ่นดิน ผลิดอกออกผลเป็นประโยชน์สุขของทุกคนในแผ่นดิน

อ. ชัยวัฒน์ ยังแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า “แก่นแท้ของสมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชน คือเป็นแหล่งสร้างความหวัง สร้างกำลังใจ และความพากเพียรของประชาชนทุกระดับ ทุกสาขา อาชีพ ในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน และปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน”

หลักการ หรือ หลักคิด ที่สภาประชาชน หรือสมัชชาประชาชน ต้องยึดให้มั่น ในทัศนะของอ. ชัยวัฒน์ คือ

สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (share vision) ว่าเราปรารถนาอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร? รูปร่างหน้าตาของมันคืออะไร? และจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร? และมีใครจะต้องเข้าร่วมทำบ้าง?

เน้นกระบวนการระดมพลังความคิด และหัวจิตหัวใจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ติดรูปแบบที่แข็งกระด้าง

สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง เกิดกระบวนการสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทุกเพศ วัย ทุกสาขา อาชีพ มีการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน เกิดความรักสามัคคี ผูกพัน และสามารถหลอมจุดร่วม โดยการบูรณาการความหลากหลายเข้าด้วยกัน รูปแบบและพิธีกรรมต้องไม่ทำลายบรรยากาศที่อบอุ่นและมีพลัง อย่าใช้รูปแบบที่จะให้คนมาโอ้อวดอัตตา และครอบงำความคิดของคนอื่นเป็นอันขาด

สมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชนนั้น ทำได้ทั้งในแง่ประเด็น (issues) และในแง่ของพื้นที่หรือท้องถิ่น เช่น ระดับจังหวัดหรือระดับภาค อันจะเป็นเมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของกระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง สมัชชาเชิงประเด็น เช่น สมัชชาต่อต้านคอร์รัปชั่น สมัชชาประชาชนร่วมบริหารจัดการน้ำ สมัชชาปฏิรูประบบยุติธรรมและตำรวจ สมัชชาเยาวชนคนหนุ่มสาว สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เราควรสนับสนุนให้กระบวนการสมัชชาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของผู้คนที่อยากแก้ปัญหาและอยากสร้างวิสัยทัศน์ของท้องถิ่นที่ตนเองต้องการ

กระบวนการสร้างเสริมความเข้มแข็งสภาประชาชน แบบรากแก้วประชาธิปไตยคืออะไร เราจะร่วมกันสร้างกระบวนการนี้ได้อย่างไร จะขอกล่าวในบทความต่อไป

 

อ้างอิง http://www.isranews.org/isranews-article/item/25811-chaiwat.html#.UqhaACBAfPg.facebook

http://thaicivicnet.com/