ยกระดับจิตเพื่อยกระดับการสนทนา

ตอนที่ 2 : บันทึกจากการประชุมเชิงปฏิบัิตการ ถอดบทเรียน พัฒนายุทธศาสตร์ และต่อยอดสมัชชาสุขภาพ (สนับสนุนโดย สช) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ที่จัดขึ้นที่พิษณุโลก พ.ศ. 2555

เช้าวันที่ ๑๕ กรกฎาคม

เข็มนาฬิกาขยับใกล้เวลา ๙.๐๐ น. ผู้เข้าอบรมโดยเฉพาะผู้ที่คุ้นเคยกับกระบวนการของอาจารย์ชัยวัฒน์เริ่มทยอยเดินเข้าห้องประชุม คนหน้าใหม่จำนวนหนึ่งจึงพลอยรู้สึกว่า ต้องรีบเดินตามเข้ามาด้วย “อาจารย์เคร่งครัดเรื่องการตรงต่อเวลา” หลายคนตระหนักเรื่องนี้ดี โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านการอุ่นหัวใจไปแล้วตั้งแต่เมือคืน

เมื่อเปิดประตูเข้ามาในห้องประชุม ภาพที่เห็นเบื้องหน้า ทำให้หลายคนยิ้ม ใจที่เกร็งอยู่คลายออก “โอ้ ดีจังเลย เหมือนห้องนั่งเล่นที่บ้าน” บางคนกล่าว แล้วก็เลือกที่นั่ง เป็นเบาะ ที่วางล้อมวงรอบโต๊ะเตี้ย ๆ ในห้องโล่งกว้าง กำแพงกระจกเปิดรับวิวตัวเมืองพิษณุโลก ท้องฟ้า และแสงแดดตามธรรมชาติให้เข้ามาภายในตัวห้องด้วย แต่ตอนแรก โต๊ะแต่ละตัวยังกระจัดกระจาย ดูห่างกัน อาจารย์จึงบอกให้พวกเราขยับโต๊ะให้ใกล้กันเข้ามา เพื่อรักษาช่องไฟ ความสัมพันธ์ให้รู้สึกใกล้ชิดกันพอดี ๆ

แม้เราจะได้สิทธิในการเลือกที่นั่งตามชอบ แต่ก็มีกติกาบ้าง อาจารย์ชัยวัฒน์ให้ “รุ่นพี่” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ผ่านการอบรมกับอาจารย์ชัยวัฒน์และ คุ้นเคยกับกระบวนการสนทนาพอสมควร ไปนั่งประจำทุกโต๊ะ เพื่อร่วมนำพา และเรียนรู้กับผู้มาใหม่ที่ยังไม่คุ้นกับกระบวนการ เป็นการสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์อย่างพี่น้อง ดูแลและเรียนรู้ไปด้วยกัน ส่วนผู้ที่มาจากจังหวัดเดียวกัน หรือคุ้นเคยกันบ้างแล้วก็ให้แยกกันนั่งคนละโต๊ะ เพื่อจะได้เปิดโอกาสให้ตนเองรู้จักเพื่อนใหม่ ข้ามจังหวัดและสายพันธุ์การทำงาน (แบบเครือข่ายข้ามสายงาน bridging network)

เมื่อถึงเวลาอันสมควร อาจารย์เริ่มการประชุมด้วยกิจกรรมสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการเรียนรู้ และการประชุม นั่นคือ การยกระดับจิตให้มีสติและสมาธิสูงสุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับการเรียนรู้และประชุม

“ก่อนการประชุม เราต้องทำจิตของเราให้มีคุณภาพ ให้มีศักยภาพสูงสุด เพื่อการประชุมที่มีความหมาย คุณภาพของจิตอยู่ที่ความช้า เราต้องทำใจให้ช้าลง เหมือนขนนกที่ค่อย ๆ พริ้วตามลมจนนิ่งสนิทแนบพื้น”

การสนทนา และการดำรงอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของเทคนิค วิธีการ หรือแม้แต่กระบวนการ หัวใจในการอยู่ด้วยกัน และสนทนา คือ คุณภาพของจิต อย่างที่เราได้สัมผัสกันไปแล้วในภาวะที่นิ่งเงียบร่วมกัน

กระบวนการสำคัญที่อาจารย์ชัยวัฒน์พาทำ คือ ให้ทุกคนผ่อนกายและใจ มีความเงียบทั้งภายในและภายนอก เพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดสติและสัมปชัญญะ

พวกเราร่วมทำสมาธิและรักษาความสงบในบรรยากาศการประชุมราว ๕ นาที จากนั้น อาจารย์ชัยวัฒน์แนะนำกระบวนการ “เช็คอิน”

การเช็คอินเป็นกระบวนการที่ชวนให้เราเช็คหัวใจตัวเองว่า เราพร้อมหรือยังสำหรับการเรียนรู้/การประชุมที่กำลังจะเริ่มขึ้น แล้วบอกให้เพื่อนในวงสนทนาได้รับรู้ว่า เราพร้อมเพียงใด เช็คตัวเองว่าเรามาทั้งกายและใจสำหรับการประชุมนี้

กติกาของกระบวนการเช็คอิน คือ ให้ทุกคนรับฟังเวลาที่ผู้อื่นพูด เราจะไม่แย่งหรือขัดคอกัน ส่วนผู้ที่ต้องการจะพูด มีอะไรจะบอกก็ให้หยิบเอาปากกา ซึ่งเราหมายร่วมกันว่า เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้ที่ถือปากกาเท่านั้นจะมีสิทธิ์พูด ถือปากากตลอดเวลาที่พูด เพื่อเตือนให้เรามีสติรู้ตัวกับการพูดด้วยว่า พูดอะไรอยู่ พูดเพื่ออะไร และพูดโดยให้เวลากับผู้อื่นได้พูดด้วย กระบวนการอย่างนี้มุ่งหวังให้เราทุกคน ไม่ว่าผู้ฟัง และผู้พูด มีสติทั้งการฟังและพูด

เมื่อทุกคนเข้าใจกติกาดีแล้ว รวมทั้งมีรุ่นพี่คอยช่วยพาทำในครั้งแรก อาจารย์ก็ประเดิมโจทย์แรกให้เราสนทนากัน “เรารู้และเห็นกำหนดการประชุมก่อนหรือไม่ เห็นแล้วรู้สึกอย่างไร กำหนดการมีอะไรชวนคิด และอ่านคำถามที่ให้ไป ๕ ข้อแล้ว รู้สึกอย่างไร”

ในกลุ่มสนทนา หลายคนบอกว่า สะดุดใจกับคำถาม คิดว่าคำถามยากและซับซ้อน ต้องใช้การครุ่นคิดลึก ๆ ต้องทบทวนตัวเอง และต้องสติในการตอบด้วย บางคนจดบันทึกคำตอบที่คิดไว้แล้วล่วงหน้า นอกจากนั้น กำหนดการก็มีส่วนกระตุ้นให้หลายคนสนใจใคร่รู้ เช่น ทฤษฏีใหม่ ๆ หรือหัวข้อ “ผู้นำในโลกอนิจจัง” และ “พลังวิถีแห่งเต๋า”

แม้สำหรับหลายคน การสนทนาในลักษณะนี้จะยังเป็นเรื่องใหม่ แต่เพียงครึ่งวันเช้า ทุกคนก็จูนใจเข้ากับกระบวนการนี้ได้อย่างรวดเร็ว ทุกคนรักษากติกาการเช็คอินได้เป็นอย่างดี และอาจด้วยเหตุนี้ ที่ทำให้เกิดสนามพลังการสนทนาบางอย่างในห้องประชุมนั้น

ในฐานะของผู้สังเกตและจดบันทึกการเรียนรู้ (ในการอบรม) ข้าพเจ้าถูกฝึกให้ฟังเสียงตัวเอง ฟังเสียงการสนทนาในกลุ่มย่อย และฟังบรรยากาศโดยภาพรวมที่แวดล้อมทั้งหมด

เมื่อข้าพเจ้าถอยมาฟังบรรยากาศการสนทนาของทั้งห้อง ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงพลังความสงบนิ่งบางอย่าง แม้จะมีผู้คนพูดแลกเปลี่ยนตามโจทย์ ในโต๊ะต่าง ๆ ทั้ง ๖ ตัว แต่เสียงคนพูดนั้นไม่ได้ทำลายความสงบงามภายในห้องประชุมเลย สีหน้าของผู้พูด และน้ำเสียงดูมีความตั้งใจ ลุ่มลึก มีสติกับสิ่งที่กำลังพูด ส่วนคนฟังก็ให้ความสนใจ ใส่ใจกับการฟังเต็มที่

หลังจากการสนทนาในกลุ่มย่อย (ทุกครั้ง) อาจารย์ชัยวัฒน์จะให้โจทย์เพื่อยกระดับการครุ่นคิดขึ้นไปอีกขั้น อาจารย์ไม่ถามว่าคุยอะไรกัน ไม่ให้ตัวแทนกลุ่มมานำสรุปการสนทนา แต่คำถามของอาจารย์ชวนให้เราถอยออกมามองเข้าไปในประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านไป ครุ่นคิดกับประสบการณ์นั้น ๆ แล้วถอดบทเรียนจากประสบการณ์ เป็นการฝึกให้เราเห็นตัวเองในขณะที่พูดและ “ดำรงอยู่” ในการกระทำต่าง ๆ (คือ มีสติรู้ตัวเสมอ ๆ)

“คำว่า “คิด” “ครุ่นคิด” “ใคร่ครวญ” เหมือนกันหรือไม่” อาจารย์ถาม

ห้องประชุมเงียบไปครู่หนึ่ง ก่อนที่หลายเสียงจะประสานขึ้น “ไม่เหมือน”

มีผู้อธิบายว่า ครุ่นคิดและใคร่ครวญเป็นการคิดที่ลึกซึ้ง ละเอียดกว่าการคิด และใช้เวลา เหมือนเป็นการทบทวน ส่วนการคิดนั้น ค่อนข้างมีลักษณะฉาบฉวยและรวดเร็ว

การครุ่นคิดเป็นสิ่งที่อาจารย์ชัยวัฒน์ชวนให้ทำตลอดเวลา นับแต่เริ่มต้นการประชุม ครุ่นคิดกับคำถาม ครุ่นคิดกับสิ่งที่จะพูด และครุ่นคิดกับประสบการณ์ เป็นการยกระดับคุณภาพการคิดการเห็น และการสนทนาให้มีคุณภาพสูงขึ้น

การครุ่นคิดเป็นการที่เราถอยออกมามองกลับเข้าไปในเรื่องราว และประสบการณ์ เห็นให้กว้างและรอบด้าน ลึกและไกล เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และนี่คือ สิ่งที่เรามักพูดกันเสมอว่า การเห็นภาพใหญ่ และภาพรวม

สำหรับโจทย์แรกที่ให้ครุ่นคิดจากบทเรียนสด ๆ ที่สนทนากัน คือ “บรรยากาศในการสนทนา กระบวนการเช็คอิน บรรยากาศทั้งห้อง ต่างกับการประชุมที่เราคุ้น และเคยทำ ๆ กันมาหรือไม่ ต่างกันตรงไหน”         

ผู้เข้าอบรมร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อสังเกตว่า “การนั่งกับพื้น บนเบาะ ไม่เป็นพิธีรีตรอง ทำให้บรรยากาศดูเบา ๆ รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ซึ่งต่างกับการประชุมโดยทั่วไป และที่เพิ่งทำมา เรานั่งประชุมบนเก้าอี้ คนนั่งติด ๆ กัน เป็นแถว มีพิธีการมาก ทำให้อึดอัด ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ นอกจากนั้น การประชุมไม่ออกแบบการสนทนาที่ดีพอ ทุกคนมุ่งนำเสนองานของแต่ละคนว่าทำอะไรกันมาบ้าง ไม่มีคำถามเพื่อการเรียนรู้ หรือชวนให้คิดเชื่อมโยง และเราไม่ได้คิดร่วมกัน เหล่านี้ ทำให้การประชุมน่าเบื่อ ไม่คืบหน้า”

สิ่งที่พวกเราสะท้อนออกมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก และความคิดเห็นที่เกิดจากประสบการณ์สด ๆ อาจารย์ชัยวัฒน์สรุปให้เห็นว่า นี่คือ การถอดบทเรียน

“การเรียนรู้ หมายถึง การไม่ทำผิดซ้ำ ไม่ทำแบบเดิม ๆ ที่ไม่นำผลที่ดี เราต้องถอดบทเรียน คือ ถอยมองสิ่งที่เราทำและพูด เห็นจุดอ่อน จับหลักหรือหาแก่นให้ได้ เอาประสบการณ์ ยกเป็นทฤษฏี วิธีการ หลักการ” อาจารย์ชัยวัฒน์กล่าว

หากเราทบทวนคำถามนี้ให้ลึกลงไป (คำถามว่า บรรยากาศในการสนทนา กระบวนการเช็คอิน บรรยากาศทั้งห้อง ต่างกับการประชุมที่เราคุ้น และเคยทำ ๆ กันมาหรือไม่ ต่างกันตรงไหน) เราจะพบว่า อาจารย์ชัยวัฒน์ตั้งใจใช้คำถามนี้ ชี้ให้เราเห็นบริบท และเจตนารมณ์ในการประชุมครั้งนี้ และยังให้โจทย์นี้เป็นบทเรียนแบบอย่าง ให้เราเห็นความหมายและความสำคัญของการเตรียมการประชุมอีกด้วย 

——-

ต่อไป ตอนที่ 3 — ความสำเร็จของการประชุม และความสำคัญของ “สมรรถนะในการมีประสบการณ์” ต่อการเรียนรู้และทำงาน

 

การประชุมเริ่มก่อนที่เราจะพบกัน

“อีก ๑๐ ปี เราอายุเท่าไร สภาพร่างกาย ศักยภาพเป็นอย่างไร สังคมและชาติจะเป็นอย่างไร เราต้องคิดและทำอะไรกันบ้างในตอนนี้”  

“วินัยในการประชุมเป็นเครื่องสะท้อนว่า ผู้คนให้ความสำคัญ และความหมายกับการประชุมเพียงใด และเป็นปัจจัยกำหนดโอกาสแห่งความสำเร็จในการสนทนา และการทำงานร่วมกันอีกด้วย เพราะเมื่อคนร่วมประชุมมีวินัยในการประชุม จะเกิดพลังความมุ่งมั่น ตั้งใจมาร่วมงาน” — บางส่วนบางตอนในบันทึกการประชุมเชิงปฏิบัติการ ถอดบทเรียน พัฒนายุทธศาสตร์ และต่อยอดสมัชชาสุขภาพ ณ จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2555

—————————-

ข้าพเจ้าติดตามบันทึกการอบรมที่นำกระบวนการเรียนรู้โดยอาจารย์ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ จากมูลนิธิการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม thaicivicnet.com เสมอ ๆ เป็นการเดินทางภายนอกและภายใน ไปในเวลาเดียวกัน

การเดินทางภายนอกหมายถึง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบปะพี่น้องนักปฏิบัติการทางสังคม ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจรับใช้ประโยชน์ส่วนรวม ทำงานด้านต่าง ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี มากบ้างน้อยบ้างตามอายุชีวิต และอายุงาน พี่น้องทั้งหลายได้แบ่งปันชีวิต งาน และเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคม ให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ตาม เห็นตาม และรู้สึกตามไปด้่วย

ส่วนการเดินทางภายในนั้น เป็นการเดินทางในกระบวนการเรียนรู้ ที่อาจารย์ชัยนวัฒน์เคร่งครัดให้เรามีวินัยในการสนทนา การประชุม มีสติ สมาธิ ครุ่นคิดใคร่ครวญ้คำถามสำคัญ ๆ ของตนและของสังคม ….

ข้าพเจ้าเห็นว่า โอกาสที่ได้รับนี้สมควรที่จะแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย จึงขอคัดสรรบางตอนของบันทึกจากการอบรมต่าง ๆ มานำเสนอให้ผู้สนใจได้ร่วมเดินทางภายนอกและภายใน ไปกับข้าพเจ้าด้่วย โดยในเบื้องต้น ข้าพเจ้าขอนำการบันทึกจากการประชุมเชิงปฏิบัิตการ ถอดบทเรียน พัฒนายุทธศาสตร์ และต่อยอดสมัชชาสุขภาพ (สนับสนุนโดย สช) ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ที่จัดขึ้นที่พิษณุโลก พ.ศ. 2555

——————–

ราว ๑ เดือน ก่อนการประชุม

อาจารย์ชัยวัฒน์ให้ข้าพเจ้าช่วยพิมพ์และส่งประเด็นคำถาม ๕ ข้อให้ผู้เข้าประชุมทุกท่านไปเตรียมคิดมาก่อน

คำถามที่อาจารย์ชัยวัฒน์ส่งไปให้เป็นเสมือนการบ้าน หรือวาระการประชุม ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้ว่า แก่นและทิศทางของการประชุมนี้อยู่ตรงไหน เพื่อที่จะได้เตรียมตัว ทั้งใจ ความคิด และข้อมูลให้พร้อมสำหรับเข้าร่วมกิจกรรม

คำถามทั้ง ๕ ข้อ คือ

๑. ในฐานะผู้นำ เราจะฟูมฟัก (บ่มเพาะ) ความงอกงาม และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไร ระหว่างที่ทำการเปลี่ยนแปลงชุมชน และสังคม?

๒. ทีมงานของท่านแข็งแกร่งในการทำงาน และมีศักยภาพที่จะเดินหน้าเพียงใด? ท่านมีอะไรเป็นตัวชี้วัดว่า ทีมงานของท่านเข้มแข็ง และเติบโตไปพร้อมกับการทำงาน? (เมื่อเผชิญอุปสรรคและปัญหา ความเข้มแข็งของทีมงานนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร? มีใครเป็นคนสร้าง หรือเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือด้วยเหตุปัจจัยใด?

๓. ตัวท่านสามารถนิยามและค้นพบแหล่งพลังหรือจุดกำเนิดพลังงาน (ความเข้มแข็งที่สุดของท่าน) ซึ่งเป็นฐานของการปฏิบัติงานและชีวิตของท่านหรือไม่ เล่าให้เห็นภาพ

๔. เมื่อเราอยู่ห่างไกลกัน ทั้งทางภูมิศาสตร์ และอีกทั้งยังมีความแตกต่างกันทางความคิด และความสนใจ ทำอย่างไรเราจึงจะร่วมมือกันได้อย่างยั่งยืน? ท่านมีประสบการณ์ตรงเรื่องนี้ที่จะแลกเปลี่ยนบ้างไหม?

๕.  ท่านมีประสบการณ์อะไรลึก ๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงาน และกับเครือข่าย? ท่านมีกระบวนการอะไร มีเทคนิคอะไรในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และมีคุณภาพ?.. และถ้าท่านจะขยายความสัมพันธ์ที่ดี มีคุณภาพให้เติบใหญ่และกว้างขวางออกไป ท่านมีอะไรจะแนะนำเพื่อน ๆ บ้างไหม?

๑ วัน ก่อนการอบรม

ข้าพเจ้าเดินทางพร้อมกับอาจารย์ชัยวัฒน์จากกรุงเทพ ไปถึงพิษณุโลก ราวสามทุ่มเศษ และกว่าจะไปถึงโรงแรมที่พักก็ใกล้สี่ทุ่ม แต่อาจารย์ชัยวัฒน์ยังคงตั้งใจจะทำตามความคิดเดิม คือ เริ่มสนทนากับผู้เข้าอบรม ที่เดินทางมาเตรียมความพร้อมล่วงหน้าสำหรับการประชุมนัดสำคัญนี้

เมื่อถึงโรงแรมและเช็คอินแล้ว อาจารย์ปรี่เข้าไปทักทายและพูดคุยกับกลุ่มพี่ ๆ น้อง ๆ ที่มาจากหลายจังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง เรานั่งเก้าอี้ ล้อมเป็นวงในล้อบบี้โรงแรม ความสงบ เอาจริงเอาจังเริ่มต้นขึ้น ข้าพเจ้ารู้สึกได้ทันทีว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ธรรมดา อาจารย์ชัยวัฒน์จริงจังและใส่ใจกับการอบรมครั้งนี้มากอย่างมีนัยยะสำคัญ

อาจารย์ชัยวัฒน์ทักทายทุกคนเรียงตัวเลยทีเดียว และถามถึงการเตรียมตัวพร้อมกับการประชุมในวันรุ่งขึ้น “อ่านคำถามที่ส่งไปให้หรือยัง อ่านแล้วรู้สึกหรือคิดเห็นอย่างไร”

ในความเงียบบ ทุกคนกำลังครุ่นคิดกับคำถาม หลายคนสะท้อนว่า คำถามยาก ซับซ้อน และไม่ค่อยได้มีใครถามกัน เป็นคำถามที่มุ่งให้เราค้นลึกเข้าไปภายในตน เห็นตัวเองในปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งในทีมงาน และเครือข่าย

อาจารย์ชัยวัฒน์เสริมว่า “พวกเรา ผู้ทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม มักมองข้ามตัวเอง เรามักมองไปข้างนอก เห็นสิ่งที่น่าจะเปลี่ยน ปรับปรุงแก้ไข แต่เรามักมองข้ามตัวเอง มองข้ามความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน และเครือข่าย”

ดังนั้น การที่จะอบรมเพื่อพัฒนาต่อยอด เราจำต้องเหลียวมองตัวเอง ความสัมพันธ์และการทำงานที่ผ่านมา ในทีม และกับเครือข่าย

เดิมที คืนก่อนวันอบรม อาจารย์ชัยวัฒน์ตั้งใจว่าจะมีผู้เข้าอบรมมาถึงสถานที่ก่อน เพื่อนั่งล้อมวงสนทนา เป็นการอุ่นเครื่อง แต่เมื่อคนมาไม่ค่อยพร้อมเพรียงอย่างที่นัดแนะไว้ในตอนต้น ดูเหมือนจะทำให้อาจารย์ยิ่งแจ่มชัดว่า วาระสำคัญจากนี้ คือ ทำให้เรื่อง วินัยในการประชุม เข้มข้นขึ้นในหมู่ผู้คนที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม

อาจารย์ชัยวัฒน์สะท้อนความรู้สึกว่า “สำหรับผม การพบกันทุกครั้ง ต้องมีความหมาย ผมจึงให้เวลาและรักษาเวลาทุกครั้งที่เราพบกัน แต่เราหลายคนไม่ทำให้การพบกันมีความหมาย ไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจ เรามาประชุมแบบตามสะดวก เข้า-ออก ตามตนสะดวก ทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย ทำให้การประชุมไม่พร้อมเพรียง ไม่เกิดความสร้างสรรค์ นานวันเข้าก็น่าเบื่อ ไม่มีอะไรใหม่ พูดแบบเดิม ๆ ทำแบบเดิม ๆ นี่ไม่เพียงเป็นนิสัยของปัจเจก แต่กลุ่มรวมถึงองค์กรก็มักปฏิบัติกันอย่างนี้ในการประชุมเราขาดวินัยอย่างยิ่ง”

“เราพูดซ้ำซาก วนเวียน “เรียนรู้ ร่วมมือ บูรณาการ” พูดกันอย่างนี้ทุกเวที แต่ก็ยังเห็นอยู่ที่เดิม ทำแบบเดิม ๆ พูดเดิม ๆ”

“การเรียนรู้คืออะไร … เรียนรู้ คือไม่ทำผิดพลาดซ้ำซาก หรือไม่ทำในสิ่งที่ย่ำอยู่กับที่ ถ้าเราทำอะไรแบบเดิม ๆ ย่ำกับที่ แล้วจะบอกได้อย่างไรว่า เรามาเรียนรู้กัน

วินัยในการประชุมเป็นเครื่องสะท้อนว่า ผู้คนให้ความสำคัญ และความหมายกับการประชุมเพียงใด และเป็นปัจจัยกำหนดโอกาสแห่งความสำเร็จในการสนทนา และการทำงานร่วมกันอีกด้วย เพราะเมื่อคนร่วมประชุมมีวินัยในการประชุม จะเกิดพลังความมุ่งมั่น ตั้งใจมาร่วมงาน

อาจารย์ชวนพวกเราคิดต่อไปถึงอนาคต “อีก ๑๐ ปีข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร สังคมและชาติจะเป็นอย่างไร เราต้องคิดและทำอะไรกันบ้างในตอนนี้ และจะย่ำอยู่กับที่ พูดคำเดิม ๆ ไม่ได้อีกต่อไป” ถึงตรงนี้ ความเงียบดูจะเสียงดังที่สุด สีหน้าหลายคนดูครุ่นคิด

อีก ๑๐ ปีข้างหน้า บางคนจะมีอายุ ๕๐ บางคนก็ ๖๐ และอีกจำนวนหนึ่งก็ ๗๐ ปี ขวบวัยเจริญขึ้น แต่พลังกายถดถอยลง แล้วในวันนี้ วันที่มีโอกาส เราทำอะไรอยู่ พร้อมรับอนาคตมากน้อยเพียงใด

เราสนทนากันกว่าครึ่งชั่วโมง อาจารย์ชัยวัฒน์ “อุ่นหัวใจ” ของพวกเราให้เห็นความหมายของการพบกันในครั้งนี้ จนเวลาล่วงเลยราวสี่ทุ่มครึ่ง เราทุกคนก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

——-

โปรดติดตามการเรียนรู้ ในตอนต่อไป ซึ่งเป็นวันแรกของการประชุมอันเข้มข้น — ตัวอย่างบางตอน “ก่อนการประชุม เราต้องทำจิตของเราให้มีคุณภาพ ให้มีศักยภาพสูงสุด เพื่อการประชุมที่มีความหมาย คุณภาพของจิตอยู่ที่ความช้า เราต้องทำใจให้ช้าลง เหมือนขนนกที่ค่อย ๆ พริ้วตามลมจนนิ่งสนิทแนบพื้น” 

ปฏิบัติการสร้างฝันให้เป็นจริง (Project of Hope) หัวใจของสภาประชาชน : สนามพลังความเป็นมนุษย์

สภาประชาชนเป็นนวัตกรรมของสังคมมนุษย์ เพื่อเรียนรู้การดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีความหมาย สร้างสรรค์ และเกื้อกูลร่วมทุกข์และสุขกัน

ในเวลานี้ หลายคนงุนงง สับสน คิดนึกไปต่าง ๆ ว่า “สภาประชาชน” “สมัชชาประชาชน” ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไร … ก่อนที่ความสงสัยจะพาเราเตลิดไปไกล ขอลองดึงความคิดมาที่คำถามพื้นฐานว่า สภาคืออะไร ความเป็นสภาหมายถึงสิ่งใด อะไรคือผลผลิตหรือดอกผลของสภา

ในฐานะนักบันทึกความรู้ทั้งภาคทฤษฏี และภาคปฏิบัติในเวทีฝึกอบรม และถอดบทเรียน ข้าพเจ้านึกถึงครั้งที่ร่วมสังเกตการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อการพัฒนากลไกสมัชชาสุขภาพ ที่จังหวัดพิษณุโลก คราวนั้น วิทยากร คือ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ โยนคำถามที่เราคิดว่า รู้เป็นอย่างดีแล้ว กลับมาให้เราถามตัวเอง สมัชชาคืออะไร

“การประชุมไม่ใช่กิจของสมัชชา แต่การประชุม คือ สมัชชา ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Assembly หมายถึง การรวมตัว การประชุมกันของผู้คน” อาจารย์ชัยวัฒน์กล่าว

ไม่มีอารยธรรมใดเลย ที่ก่อกำเนิดขึ้นโดยปราศจาก “สภา” หรือ “สมัชชา” พื้นที่ที่ผู้คนมานั่งล้อมวง สนทนากันในเรื่องที่เกี่ยวโยงกับทุกคน ร่วมกันแก้ไขปัญหา วางกฏกติกา แบ่งหน้าที่และจัดสรรประโยชน์ทรัพยากรที่มีร่วมกัน ฯลฯ

แม้ในยุคทันสมัยอันซับซ้อนเช่นเวลานี้ ความเป็นสภาแบบที่มีมาแต่อดีตกาลก็ยังมีอยู่ และทวีความหมายและความสำคัญขึ้น เนื่องจากความท้าทายปัญหาต่าง ๆ เรียกร้องให้เราหันหน้ามาคุย และลงแรง ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาร่วมกัน เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นตัวอย่างที่ย้ำบอกเราว่า วัฒนธรรมสภา และ “ลงแขก” เป็นธรรมชาติของสังคมมนุษย์

นักวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ชี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ (และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) คือ ความเห็นอกเห็นใจ การอยู่รวมกัน การช่วยเหลือดูแลกันและกัน และการโหวตในการทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมด้วยกัน

ฉะนั้นแล้ว สภาประชาชนที่พูดถึงกันอยู่ในเวลานี้จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวดทางสังคม

สภาไม่ใช่อาคารสิ่งก่อสร้าง หรือกลุ่มคนที่มาอยู่รวมกัน แล้วแปะป้ายว่า “สภา” แต่ สภา คือ สนามพลังแห่งความสัมพันธ์และการสนทนาของคนที่มารวมตัวกัน ซึ่งดอกผลของการดำรงอยู่ร่วมกัน และการสนทนานั้น เป็น ปัญญาร่วม ความเจริญงอกงาม และความสุขสมบูรณ์ร่วมกัน

เราไม่ต้องแหงนมองเฉพาะสภาที่เป็นทางการ อย่างรัฐสภา แต่เราก่อร่างตั้งสภาประชาชนได้ในทุกเรื่อง ทุกประเด็น ทุกพื้นที่ ทุกเพศ ทุกวัย

ปัจจุบัน เรามีความเป็นสภาอย่างนี้อยู่แล้ว กระจายทั่วแผ่นดิน แต่ยังไม่พอ ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะในแง่คุณภาพ สำหรับสภาภาคพลเมืองที่มีอยู่แล้ว เราจำเป็นต้องยกระดับคุณภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อสร้างผลสะเทือนเชิงลึกและยั่งยืน

ที่สำคัญ การดำเนินการสภาประชาชน ไม่ว่าระดับใด จำต้องคำนึงถึงหัวใจของความเป็นสภา 2 เรื่องหลัก ๆ คือ การประชุมและสนทนาที่มีคุณภาพและความหมาย และการดำรงอยู่ร่วมกันเป็นทีม (collectivity) ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้จะเกี่ยวพันกับเรื่องภาวะผู้นำในตน การฝึกฝนสภาวะจิต และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันเลยทีเดียว

(ตอนต่อไปจะได้แลกเปลี่ยนเรื่อง การประชุมและสนทนาที่มีคุณภาพและความหมาย)

ปฏิบัติการสร้างฝันให้เป็นจริง (Project of Hope) สภาประชาชน : รากแก้วประชาธิปไตย

ปัจจุบัน แนวคิด สภาประชาชนเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะที่มาของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในสภา สภาในลักษณะนี้สำคัญก็จริง แต่เราก็ไม่ควรลืมลักษณะของสภาประชาชนอีกแบบหนึ่ง — organic people’s assembly — ซึ่งอาจสำคัญและยั่งยืนมากกว่า สภาประชาชน ที่มีการเสนอว่า จะมีจำนวน 400 คน ด้วยซ้ำ

“คำว่าประชาธิปไตยนั้น มักจะเข้าใจความหมายกันผิดๆ ประชาธิปไตยแปลว่า ประชาชนเป็นใหญ่ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ปกครองโดยประชาชน และเพื่อประชาชน ประชาธิปไตยที่เราเห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่ก็โดยประชาชน แต่ขาดหลักการ เพื่อประชาชน เพราะพวกชนะเลือกตั้ง มักละทิ้งหลักการเพื่อประชาชนไปเสีย กลายเป็นเพื่อตนเองและเพื่อนพ้องไปฉิบ” คำกล่าวของรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์

————————————

ระหว่างคำว่า “สภาผู้แทน” กับ “สภาประชาชน” คนตัวเล็ก ๆ อย่างข้าพเจ้ารู้สึกหัวใจพองโตกับคำว่า “สภาประชาชน” มากกว่า เพราะทำให้รู้สึกว่า เรามีส่วนร่วมในการกำหนดชีวิตและอนาคตของบ้านเมืองโดยตรง

ที่ผ่านมา สภาผู้แทนไม่ได้ทำหน้าที่ส่งเสียงของเรา ไม่ได้ทำหน้าที่ที่จะเอื้อประโยชน์กับส่วนรวม ซ้ำร้าย ผู้ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนเรา กลับกดขี่ข่มเหงเรา ทำตัวเหนือเราผู้ที่เลือกพวกเขาเข้าไปทำหน้าที่ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ปรารถนาให้ชนชั้นนำ หรือมีผู้อื่นคิดแทนประชาชน แนวคิดเรื่อง “สภาประชาชน” จึงเป็นโอกาสให้ประชาชนได้แผลงฤทธิ์ทางความคิด และการกระทำ โดยมีรัฐ ระบบราชการ ทั้งในระดับท้องถิ่น และประเทศ คอยเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ทำสิ่งที่หวังให้เป็นจริง  

ข้าพเจ้าเชื่ออย่างเต็มหัวใจในพลังและศักยภาพของประชาชน และประชาธิปไตยทางตรง แต่ก็มีอีกหลายคำถามที่เราต้องเดินทางหาคำตอบไปด้วยกัน อาทิ สภาประชาชนเป็นอย่างไร กระบวนการทำงานของสภาเป็นอย่างไร บทบาทหน้าที่ควรเป็นอย่างไร เราจะเข้าร่วมในสภาประชาชนได้อย่างไร ใครคือผู้ที่จะอยู่ในสภาประชาชน ฯลฯ

ก่อนจะเดินไปข้างหน้า ซึ่งยังดูอึมครึม ข้าพเจ้าคิดว่า สมควรที่เราจะเหลียวไปข้างหลัง แล้วถามตัวเองว่า สภาประชาชนเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทยหรือ

หากนับเอาเพียงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแค่ในช่วง 10-30 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการรวมตัวของคนกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่เดียวกัน หรือผู้ที่สนใจประเด็นปัญหาเดียวกัน เราเห็นกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ประชาสังคมต่าง ๆ กลุ่มเยาวชน สหกรณ์ เครือข่ายโฉนดชุมชน สภาพลเมือง เครือข่ายประมงพื้นบ้าน สมัชชาสุขภาพ สมัชชาปฏิรูป ฯลฯ กลุ่มคน (พลเมือง) เหล่านี้รวมตัวกัน สนทนากัน นำเสนอกฏหมาย แนวทางปรับโครงสร้าง ระบบต่าง ๆ ในสังคม เพื่อเปิดทางสู่การปฏิรูปสังคมในประเด็นต่าง ๆ และสร้างสรรค์ทางใหม่ที่ดีในบ้านเมือง ผลของสมาคมภาคพลเมืองต่าง ๆ เหล่านี้นำความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับต่าง ๆ กัน มากบ้าง น้อยบ้าง

อ. ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้ที่คลุกคลีกับภาคประชาสังคมมากว่าสามทศวรรษ กล่าวว่า “บทเรียนของสมัชชาต่างๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ แสดงเห็นชัดเจนว่า ประชาชนมีความสามารถ มีข้อมูล และความรู้ อีกทั้งเข้าใจปัญหาของพื้นที่และปัญหาของตนเองเป็นอย่างดี เมื่อใดที่ประชาชนได้มีโอกาสประชุมร่วมกันด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ ประชาชนก็สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหา และมีแผนปฏิบัติการไปทำได้อย่างจริงจัง

ตัวอย่างรูปธรรมของสมัชชาประชาชนที่ผ่านมาแล้ว เช่น สมัชชาสุขภาพระดับจังหวัดและระดับภาค สมัชชาคุณธรรมอันเป็นสมัชชาระดับชาติ สมัชชาประชาชนประชาธิปัตย์ที่มีผู้เข้าร่วม 3,000 คนเมื่อเดือนตุลาคม 2548 และสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงวันนี้ ล้วนเป็นประจักษ์พยานของการได้ทดลองประชาธิปไตยแบบวิจารณญาณของประชาชนมาแล้ว เราจึงเชื่อมั่นได้ว่า จากบทเรียนดังกล่าว ถ้าได้มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เราก็จะทำให้เป็นประชาธิปไตยของประชาชนทุกระดับจนเต็มแผ่นดิน เป็นดอกไม้ประชาธิปไตยอันงดงาม บานสะพรั่งทั่วแผ่นดินไทย”

อาจารย์ชัยวัฒน์มักยกตัวอย่าง กลุ่มที่เรียกว่า study circles ในประเทศสวีเดน เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีความสนใจเหมือนกัน รวมตัวกัน สนทนากันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ งานอดิเรก ศิลปะ จิปาถะ ไม่ว่าจะประเด็นอะไร หัวใจคือ ผู้คนเชื่อมความคิด สร้างความสัมพันธ์กัน เรียนรู้ร่วมกัน เมื่อสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรมพื้นฐานในวิถีชีวิต มันก็งอกงามเติบโตไปเป็นวิถีการสนทนาที่สร้างสรรค์ในประเด็นที่สำคัญมากขึ้น ในเรื่องการบ้านการเมือง

ชื่อไม่สำคัญ เราจะเรียก สภา สมัชชา หรือกลุ่ม สหกรณ์ อะไรก็ตาม แนวคิดหลัก คือ การรวมกลุ่มของผู้คน ประชาชน/พลเมือง ที่เอาธุระของชุมชน องค์กร บ้านเมือง มารวมตัว ประชุมสนทนาปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ร่วมกัน

สภาแบบนี้ (organic people’s assembly) เหล่านี้ จึงถือได้ว่า เป็นรากฐาน หรือรากแก้ว ของความเป็นประชาธิปไตย ที่จะเกื้อกูลให้การดำรงอยู่ของสภาส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สภาประชาชนในความหมายอย่างนี้จึงเป็นเส้นทางและเป้าหมาย (means and ends) ที่เราต้องร่วมกันเดินไป ร่วมสร้างให้เกิด เติบโตและงอกงามทั่วแผ่นดิน ผลิดอกออกผลเป็นประโยชน์สุขของทุกคนในแผ่นดิน

อ. ชัยวัฒน์ ยังแสดงทัศนะเพิ่มเติมว่า “แก่นแท้ของสมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชน คือเป็นแหล่งสร้างความหวัง สร้างกำลังใจ และความพากเพียรของประชาชนทุกระดับ ทุกสาขา อาชีพ ในการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน และปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน”

หลักการ หรือ หลักคิด ที่สภาประชาชน หรือสมัชชาประชาชน ต้องยึดให้มั่น ในทัศนะของอ. ชัยวัฒน์ คือ

สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน (share vision) ว่าเราปรารถนาอยากเห็นอนาคตเป็นอย่างไร? รูปร่างหน้าตาของมันคืออะไร? และจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร? และมีใครจะต้องเข้าร่วมทำบ้าง?

เน้นกระบวนการระดมพลังความคิด และหัวจิตหัวใจอย่างสร้างสรรค์ ไม่ติดรูปแบบที่แข็งกระด้าง

สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร เป็นพี่เป็นน้อง เกิดกระบวนการสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทุกเพศ วัย ทุกสาขา อาชีพ มีการเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน เกิดความรักสามัคคี ผูกพัน และสามารถหลอมจุดร่วม โดยการบูรณาการความหลากหลายเข้าด้วยกัน รูปแบบและพิธีกรรมต้องไม่ทำลายบรรยากาศที่อบอุ่นและมีพลัง อย่าใช้รูปแบบที่จะให้คนมาโอ้อวดอัตตา และครอบงำความคิดของคนอื่นเป็นอันขาด

สมัชชาประชาชน หรือสภาประชาชนนั้น ทำได้ทั้งในแง่ประเด็น (issues) และในแง่ของพื้นที่หรือท้องถิ่น เช่น ระดับจังหวัดหรือระดับภาค อันจะเป็นเมล็ดพันธุ์ชีวิตบูรณาการ ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของกระบวนการจังหวัดจัดการตนเอง สมัชชาเชิงประเด็น เช่น สมัชชาต่อต้านคอร์รัปชั่น สมัชชาประชาชนร่วมบริหารจัดการน้ำ สมัชชาปฏิรูประบบยุติธรรมและตำรวจ สมัชชาเยาวชนคนหนุ่มสาว สมัชชาผู้สูงอายุ สมัชชาอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เราควรสนับสนุนให้กระบวนการสมัชชาเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของผู้คนที่อยากแก้ปัญหาและอยากสร้างวิสัยทัศน์ของท้องถิ่นที่ตนเองต้องการ

กระบวนการสร้างเสริมความเข้มแข็งสภาประชาชน แบบรากแก้วประชาธิปไตยคืออะไร เราจะร่วมกันสร้างกระบวนการนี้ได้อย่างไร จะขอกล่าวในบทความต่อไป

 

อ้างอิง http://www.isranews.org/isranews-article/item/25811-chaiwat.html#.UqhaACBAfPg.facebook

http://thaicivicnet.com/

ประัชาชนใฝ่ฝันอะไร?

“สภาประชาชน” ผู้คนรู้สึกและมีความเห็นกับเรื่องนี้ไปต่าง ๆ นานา ตามประสบการณ์ ความเชื่อ ความรู้ การให้ความหมายและตีความของตน หลายคนรู้สึกว่าเรื่องนี้คือทางออกสู่อนาคต “ฟ้าสีทอง ผ่องอำไพ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ในขณะที่อีกหลายคนยังแคลงใจว่าเรื่องนี้ทำได้หรือ ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ อีกหลายคนขัดใจกับการนำเสนอสิ่งนี้
เป็นเรื่องที่ดี ที่ “สภาประชาชน” ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้แสดงความรู้สึก ความเห็น ข้อกังวลและคำถามต่าง ๆ แม้ยังไม่เกิดสภาประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมก็ตาม เพราะหนึ่งในเจตนำนงสำคัญของสภาประชาชน คือ ชักชวนให้ผู้คนทั้งหลายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันความหวัง ความฝัน เพื่อนำไปสู่การออกแบบสภาประชาชน ที่รับใช้สังคมไทยโดยส่วนรวม และร่วมกันลงมือทำในส่วนที่จะร่วมสร้างสังคมดี ที่ทุกคนปรารถนาจะอยู่ร่วมกัน
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ แห่งสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม (CivicNet) ได้ให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ ออน์ไลน์เรดิโอ (posttodayradio) เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ ในบางประเด็นเกี่ยวกับ “สภาประชาชน”

chaiwat01

โพสต์ทูเดย์ เรามาคุยกันถึงแนวทางที่คุณสุเทพได้คุยไว้เรื่อง มาตรา ๓ ต่อด้วยมาตรา ๗ และเป็นที่มาของสภาประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ สามารถทำได้หรือไม่คะ

อาจารย์ ชัยวัฒน์ ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และได้พูดคุยกันหลายครั้งหลายหนแล้วว่า มันทำได้ครับ เพราะมันเป็นสถานการณ์พิเศษ แล้วมาตรา ๓ มอบอำนาจอธิปไตยให้มวลชน ส่วนมาตรา ๗ ก็เปิดกว้างเต็มที่ว่าเราสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้อยู่ที่เจตจำนงมากกว่า หลายๆเรื่องไม่ควรจะปล่อยให้ข้อบัญญัติบางอย่าง ซึ่งตีความไปทางไหนก็ได้เป็นการจำกัดตัวเอง ผมว่าเจตจำนงสูงสุดเป็นตัวสำคัญมากกว่า

 
โพสต์ทูเดย์ เจตจำนงในความหมายของอาจารย์คืออะไร
อาจารย์ ชัยวัฒน์ เจตจำนงไม่ใช่ของผมคนเดียว ถามว่า ประชาชนใฝ่ฝันอะไรมาตั้งแต่ ๒๔๗๕ ตั้งแต่อาจารย์ปรีดีทำขึ้นมา และ ๑๔ ตุลา ที่นักศึกษา ประชาชนเรียกร้องขึ้นมา พฤษภาทมิฬก็ดี อันนี้เป็นเจตจำนงที่สืบทอดกันมาใช่ไหม สายธารประวัติศาสตร์ไม่เคยสิ้นสุด ประชาชนใฝ่ฝันอะไร
คุณคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอะไร การเมืองที่ดีใช่ไหม นักการเมืองที่ดีใช่ไหม อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปั้นแต่งอนาคตสังคมไทยจริงไหม อันนี้พูดกับแบบหัวใจตรงๆ ไม่นับสี อันนั้นแหละคือเจตจำนงอันสูงสุด แต่คนไม่กล้าทำ บอกทำไม่ได้ ติดนั่นนี่โน่น
ท้าวความนิดนึง ผมยังจำได้หลัง ๑๔ ตุลาเรามีพรรคการเมืองหลายพรรคหลายฝ่าย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ จำได้ไหม แล้วก็ชาติไทย ประชาธิปัตย์ ฯ แต่ต่อมาพรรคฝ่ายก้าวหน้าของประชาชนก็หายไปจากแผ่นดินไทยเลย เพราะระบบทุนเข้ามาครอบงำทุกพรรคการเมือง และไม่มีการถ่วงดุลอำนาจแห่งประชาชน จริงไหม มันเป็นพรรคการเมืองของนักการเมืองทุกพรรค ที่ภาษาอังกฤษเรียก Plutocracy ซึ่งบัญญัติอยู่แล้วในศัพท์ทางรัฐศาสตร์
Plutocracy คืออำนาจของคนมีเงิน ใช้เงินเป็นอำนาจ และทำพรรคการเมืองและใช้การเมืองตอบสนองผลประโยชน์ของตน จริงไหม เราต้องการทลุทะลวงไหม …และนี่คือโอกาสครั้งที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้เจตจำนงมีโอกาสเป็นจริง แล้วทำไมไม่ช่วยกันคิดล่ะว่ามีความเป็นไปได้กี่ทาง ที่จะทำให้มันเป็นไปได้ มันไม่ได้เป็นของใครสักคนเลย
คนที่ทำทั้งหมด ที่จะมาเป็นสภาประชาชนต่อไปเขาจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองกับพรรคการเมืองเลย เราต้องการสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด สร้างบ้านให้เรียบร้อย อาจจะสร้างไม่เรียบร้อย แค่วางรากฐานให้มั่นคงแล้วให้คนอื่นมาเติมต่อ ให้ ประเทศไทยก้าวไปถูกครรลอง ตรงนี้มันเป็น democracy ที่แท้จริง ไม่ใช่ plutocracy

 

โพสต์ทูเดย์ แสดงว่าหลักคิดของอาจารย์ก็คือเอาเจตจำนงเป็นตัวตั้ง แล้วที่รัฐบาลบอกว่า ทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ ผิดหลักรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมาแก้ตรงนั้นกัน
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ไม่ใช่มาแก้ รัฐบาลนี้ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่บ้าง ขอถามหน่อย พฤติกรรมที่ผ่านมา ๒-๔ ปีที่ผ่านมาคืออะไร ให้มองความจริง ข้อมูล ตัวเลขทั้งหลาย แม้กระทั่งอำนาจศาลก็ไม่ยอมรับ ตัวนายกก็ไม่ยอมรับ สภา สส. สว. ก็ไม่ยอมรับ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอมรับศาล แล้วที่ทำมา ทำทำไม จริงไหม ตรงนี้การกระทำแสดงถึงเจตจำนงที่แท้จริง คุณคิดจะปกป้องผลประโยชน์ของคุณเท่านั้น จริงไหม

 

โพสต์ทูเดย์ นอกจากข้อเสนอของคุณสุเทพที่บอกว่า กปปส.ระดับจังหวัด
อาจารย์ ชัยวัฒน์ เราอยากให้ประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วม ซึ่งจะตามมา อันนี้จะเป็นครั้งแรกที่จะทำเรื่องของประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงได้ทุกระดับ แน่นอนว่าช่วงต้นๆจะไม่ perfect (สมบูรณ์) แต่ทิศทางมันไปอย่างนั้นแน่นอน
ทิศทางคือว่าอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเอง เพราะว่าหัวใจของ democracy is problem solving ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาของประชาชน และประชาชนต้องมีส่วนร่วม เพราะบางครั้งนักการเมืองหรือนักเลือกตั้งเองก็ไม่ได้ทำตามเจตจำนงค์ของประชาชนเสมอไป เราก็ต้องสร้างเครื่องมือ สร้างโครงสร้าง สร้างกระบวนการให้ประชนชนได้แสดงออกจริงๆ โดยไม่ถูกไม่บิดเบือน จริงไหมครับ
บางครั้งเป็นเรื่องประชาธิปไตยทางตรง บางครั้งก็เป็นเรื่องประชาธิไตยทางอ้อม ก็ใช้มันทั้ง ๒ อย่าง เหมือนหยิน-หยาง เป็นเต๋าเลย ทำไมเราไม่คิดขึ้นมาล่ะ แต่อย่ามาบอกว่า โอ๊ย ไม่เคยมีมาก่อน อยากจะบอกว่า ประชาธิปไตยก็ไม่มีมาใน ๑๐๐๐ ปีก่อน เมื่อ ๑๐๐ ปีมันก็ไม่เคยมีมาก่อน ทุกอย่างมันเป็นนวตกรรม สิ่งที่ท้าทายมาก จากการสังเกตนักวิชาการจากคนต่างๆ เราไม่กล้าแม้ที่จะฝัน แม้ที่จะฝันว่าคนไทยมีความสามารถที่จะสร้างประชาธิปไตยทางตรงที่น่าสนใจได้ ซึ่งในหลายประเทศเขาก็ทำในสไตล์ของเขา อย่าง สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ทำไมเราจะทำในสไตล์ไทยๆไม่ได้ล่ะ มันอยู่ที่เรากล้าที่จะฝัน กล้าจะสร้าง vision ประเทศไทยไหม สิ่งสำคัญมันอยู่ตรงนี้ การเมืองเป็นการระดมเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ของแผ่นดิน

 

โพสต์ทูเดย์ ดูเหมือนว่าเราต้องกล้าที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถูกต้อง เราต้องมีความกล้าหาญจะเดินทางสิ่งดีสิ่งงาม และหัวใจและความถูกต้องของประชาชน ซึ่งความกล้าหาญ ความปรารถนานี้มันหายไปประมาณ ๓๐ ปี มันหมดหวัง สิ้นหวัง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะการเมืองน้ำเน่าล้อมซะจนทำให้เราหมดกำลังใจ จริงไหม

 

โพสต์ทูเดย์ ตอนนี้ที่เห็นประชาชนที่ลุกขึ้นมาตอนนี้ ดูเหมือนจะมีความความหวังเรืองรองขึ้นมาหรือยัง
อาจารย์ ชัยวัฒน์ ถามคุณเองเลย คุณมีความหวังเรืองรองขึ้นมาหรือเปล่าล่ะ ถามหัวใจคุณเองเลย ถามแบบมนุษย์ต่อมนุษย์ คนไทยต่อคนไทย คุณมีไหม

โพสต์ทูเดย์ ดิฉันก็มีค่ะ

อาจารย์ ชัยวัฒน์ นั่นแหละ หัวใจคุณบอก หัวใจผมบอก และหัวใจอีกกี่ล้านคนล่ะที่บอก ทำไมเราไม่มาสร้างความฝันร่วมกันล่ะ กระบวนการนี้ไม่มีสีเสื้ออีกแล้ว เรามีแต่ประเทศไทย แผ่นดินไทย ความรักประเทศชาติ แล้วมาเชื่อมกัน แล้วเมื่อทะลวงสำเร็จ เราก็ต้องเอาความใฝ่ฝันของเรา และเราจะอยู่อย่างไรในอาเซียน และเราจะวางตำแหน่งอย่างไรในเอเชียและโลก เราต้องกล้าฝันไปถึงตรงนั้นแล้ว โลกมันโลกาภิวัฒน์ นี่ล่ะคือความท้าทายที่สุด แต่คนไม่พูดถึง นักวิชาการ นักกฎหมายจะพูดถึงบทบัญญัติตรงโน้นตรงนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี้ถูกสร้างด้วยพลังใจร่วมกัน ความใฝ่ฝันร่วมกันทั้งสิ้น มันเป็นนวตกรรมทางการเมืองสังคม และวัฒนธรรมการเมืองแบบใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า มันขึ้นอยู่กับในช่วงวันเวลานี้อีกไม่นาน ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและอยากจะทำด้วยกัน

 

โพสต์ทูเดย์ สถานการณ์และแนวทางที่อาจารย์ให้ประชาชนเข้ามาบริหารการปกครอง จะเป็นไปได้หรือ
อาจารย์ ชัยวัฒน์ มันเป็นไปได้ อาจจะไม่ absolutely (เบ็ดเสร็จสมบูรณ์) ทันทีทันใด ๑๐๐% เสียทีเดียว แต่เราวางรากฐานได้ โดย กปปส.จะทำหน้าที่ชั่วคราว อาจจะ ๑ ปี หรือ ๑ ปีครึ่งก็แล้วแต่ ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศไทยต่าง ๆ ด้วย ระหว่างนั้นก็มีรัฐบาลรักษาการซึ่งเป็นกลาง ซึ่งไม่ใช่นักการเมืองใดๆเข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งคนเหล่านี้พอหมดภาระกิจก็ต้องถอยกลับบ้านไปทำงาน ทำหน้าที่ตัวเองเหมือนเดิม ซึ่งในระหว่างนั้นก็ต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งหัวข้อการปฎิรูปประเทศไทยมีมันเยอะแยะเต็มไปหมด ขอให้รวบรวมขึ้นมาและทำให้เป็นจริงเท่านั้นเอง อาจจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุก ๆ เรื่อง แต่ว่ามันจะไปโยงใยกับอำนาจของประชาชนที่ตื่นรู้ขึ้นมาในที่ต่างๆ แล้วเขาอยากจะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ยกตัวอย่างง่ายๆ โครงการจัดการน้ำ คงจะทราบกันดีว่า คนจำนวนมากที่เดือดร้อนจริงๆถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ อันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยต้องเอาข้อมูลมานั่งถกกันว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรใช่หรือไม่ใช่ แต่นี่มันกีดกัน มันจะเอาให้ได้เลย ๓.๕ แสนล้าน ตามเจตนารมย์ของ plutocracy อย่างเดียวเลย จริงไหม นี่ตัวอย่างง่ายๆเลยจริงไหม (ค่ะ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้สามารถทำได้ในระดับท้องถิ่น ซึ่งต่อไปผมยืนยันได้เลยว่าการแก้ปัญหาของชาติคือการแก้ปัญหาระดับท้องถิ่น เพราะรัฐบาลกลางไม่มีทางเข้าใจหลายเรื่อง รัฐบาลกลางอาจจะคุมไม่กี่เรื่อง อาจจะคุมเรื่องนโยบายต่างประเทศ การเงินการคลัง การป้องกันประเทศ แต่หลายๆเรื่อง ประชาชนเขาฉลาดพอ รู้เรื่องพอที่จะแก้ปัญหาได้ และยิ่งมีระบบดิจิตอลที่ถ่ายทอด คนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่จะเร็วมาก อันนี้แหละคือโอกาสของสิ่งใหม่ เรากำลังจะสร้างประชาธิไตยในศตวรรษที่ ๒๑ ในโลกยุคติจิตอล

ทุกข์แล้ว…เปลี่ยน ?

อะไรคือเหตุผลที่เราควรสนับสนุนรัฐบาล … ครุ่นคิดนึงถึงเวลาจ่ายตลาด … เช็ดน้ำตาเวลาซื้อไข่ไก่ ฟองละเกือบ 6 บาท .. ซื้อหมูก็สะดุ้ง แพงเหลือ ซื้อถั่วฝักยาว 3 เส้น 10 บาท ก๊าซหุงต้มก็ขึ้นราคา เติมน้ำมันก็ต้องปาดเหงื่อ ข้าวก็เน่า … คนรายได้น้อยจะกินอะไรกัน เขาจะมีชีวิตอยู่กันอย่างไร … นี่แค่ “ทุกข์” หนังตัวอย่าง น้ำจิ้ม …

เราไม่หวังในนักการเมืองไม่ว่าฝ่ายใด แต่ข้าพเจ้าเชื่อใน “ความเป็นเรา” ทุกคน เราอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร เราจะอยู่กันอย่างไร เรามาช่วยกันคิดและช่วยกันทำ บางที ทุกข์ที่เผชิญร่วมกันมาหลายปี และในปัจจุบันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี …. ให้เป็นสังคมแห่งการเกื้อกูลดูแลกัน เคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน คนเก่งต้องดูแลคนเก่งน้อยกว่า คนมีมากต้องแบ่งปันให้คนมีน้อย คนเสียงส่วนมากต้องรับฟังและให้เกียรติดูแลเสียงส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ของประเทศดูแลช่วยเหลือคนส่วนน้อยให้มีที่ทางในสังคม

ความตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง คุนดุน (องค์ทาไล ลามะ) “อหิงสาใช้เวลา” บางที ถนนสายปฏิรูปเองก็ใช้เวลาด้่วยเช่นกัน เวลาเผชิญทุกข์ เราอยากขจัดมันไปเร็ว ๆ แต่ยิ่งพยายามทำลายมันเร็ว (ด้วยยาแรง) ผลข้างเคียงก็มาก — “เราจะอยู่กับทุกข์นี้อย่างไร ต้องทำอะไร เพื่อให้เกิดผลข้างเคียงด้านลบน้อยที่สุด และอาจรังสรรผลสะเทือนด้านบวกได้?” เราถามตัวเอง “ได้เวลาแก้กรรมกันหรือยัง?”

สิ่งที่เราก่นด่าว่า “ชั่ว” เราต้องไม่ให้เกิดในตัวเรา 
ทำงาน เรียนหนังสืออย่างสุจริต และไม่ยอมให้ตัวเองเข้าไปเกี่ยวในความฉ้อฉลคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ไม่จ่ายส่วย ไม่จ่ายเ้งินใต้โต๊ะ ไม่ลอกข้อสอบ ฯลฯ
ทำอะไรก็คิดถึงส่วนรวมก่อนส่วนกู คิดถึง “หลักการ” มากกว่า “หลักกู” ไม่โกหกเพื่อเอาตัวรอด เมื่อทำผิดพลาดไปก็ขอโทษสำนึกผิด และแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว …
ฯลฯ

เราเชื่อว่า คนมีความดี และความคิดดี เราฝันที่จะเห็นคนที่สนใจในเรื่องต่้าง ๆ ที่ดีงาม มาระดมสมองและหัวใจในวงต่าง ๆ หันหน้ามาคุยกันอย่างสร้างสรรค์ ช่วยกันคิดว่าเราจะปฏิรูปสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร และช่วยกันทำ 

  • เรามาช่วยกันออกแบบกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรม ดูแลทุกข์สุขให้คนทุกคน ตำรวจรับใช้ประชาชน และระบบสังคมดูแลตำรวจให้มีเกียรติและมีกิน (โดยไม่ต้องแบมือขอคนอื่น)
  • เรามาช่วยกันออกแบบระบบการศึกษาที่ทำให้คนอิ่มเอมกับความเป็นมนุษย์ เคารพในตัวเอง มีทักษะศักยภาพ และหัวใจที่จะพึ่งตัวเองและดูแลผู้อื่นและโลก ครูต้องเป็นอาชีพรายได้ไม่อัปลัษณ์ คนเป็นครูมีความสามารถและหัวใจ
  • เรามาปฏิรูปศาสนา (พุทธศาสนา) ให้เป็นที่พึ่งทางจิตวิญญาณ ทางปัญญา ทางสังคมได้จริง พระอยู่ในกรอบพระวินัยและพระธรรม ปฏิบัติตนให้สมกับข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมดูแล และญาติโยมก็ไม่ทำให้พระเสียคนด้่วยลาภ ยศ สรรเสริญ สุขจนเกินพระวินัย
  • เรามาช่วยกันออกแบบระบบสาธารณสุขที่มีหัวใจ ดูแลคุณภาพชีวิตของคนให้ดี เป็นพลเมืองที่มีความสุข แข็งแรงทั้งกายและใจ
  • เราจะปฏิรูปการเมือง รัฐสภาให้นักการเมืองเป็นผู้รับใช้ประชาชน รับใช้ส่วนรวม เป็นผู้เสียสละ และประชาชนตรวจสอบการทำงาน และการใช้งบประมาณของรัฐอย่างใกล้ชิด (ผ่านระบบออนไลน์อันโปร่งใส เข้าถึงได้ทั่วไป)
  • เราจะปฏิรูปการเกษตรให้เกษตรกรเป็นไท มีที่ดินทำกิน พึ่งตนได้ … เราจะดุแลทรัพยากรป่าไม้ สายน้ำ แร่้ธาตุให้ทุกคนได้รับประโยชน์ และธรรมชาติก็ได้รับประโยชน์ด้วย …..
  • เราจะดูแลสัตว์ในเมือง และสัตว์ในป่าให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเป็นคน
  • ฯลฯ 

เราฝันและหวังจะทำสิ่งที่คิดกับผู้ที่มีฝันและความคิดร่วมกัน ทำได้แค่ไหนก็เท่านั้น … “อหิงสาใช้เวลา” … ชีวิตคนเราสั้น แต่ความฝันอาจยาว หา่กเราส่งผ่านความฝันอันงดงามจากรุ่นสู่รุ่น แม้เราอาจจะไม่ได้ลิ้มรสฝันนั้นเมื่อสักวันฝันเป็นจริงก็ตาม … เราไม่ได้ฝันเพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนที่จะได้อยู่ในวันหน้า …. เหมือนอย่างที่บรรพบุรุษได้ทำมาแล้วในอดีตให้พวกเรา

อำนาจจิ๋วสร้างชาติ

วาทะ แกนดอล์ฟ พ่อมดขาวแห่ง Lord of the Rings — “พ่อมดดำ ซารูมาน เชื่อว่า อำนาจทิ่ยิ่งใหญ่เท่านั้นที่จะยับยั้งความชั่วร้ายได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ข้าเห็น ข้าพบว่าการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตของคนธรรมดาสามัญต่างหากที่จะช่วยขจัดความมืดออกไปได้ เป็นการกระทำเล็ก ๆ ที่กอปรด้วยความรักและความเมตตา”

“Saruman believes it is only great power that can hold evil in check, but that is not what I have found. I found it is the small everyday deeds of ordinary folk that keep the darkness at bay… small acts of kindness and love.”

อำนาจในสภา อำนาจของผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตย อำนาจข้าราชการ อำนาจสถาบันต่าง ๆ อันอาจจัดได้ว่าเป็นอำนาจอันยิ่งใหญ่ในสังคมไม่สามารถหยุดยั้งความชั่วที่กำลังกลืนกินสังคมของเราได้ และก็ไม่รู้ว่า หากความมืดบอดหรือ “คราส” (eclipse) ได้อมประเทศแล้ว อีกนานเพียงใดที่ความมืดมิดจะคลาย ให้เราได้เห็นแสงสว่าง ที่ผู้คนใฝ่ฝันถึง “ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

เมื่ออำนาจอันยิ่งใหญ่ไม่อาจรับมือกับความชั่วได้ ก็คงได้เวลาที่อำนาจเล็ก ๆ หรืออำนาจจิ๋ว ของคนเล็กคนน้อยในสังคมจะลุกขึ้นมาทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมกัน ในรูปแบบอันหลากหลาย และกระทำด้วยความรัก ความเมตตาต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมชาติ และต่อลูกหลานในอนาคต

ในวันนี้ เราได้เห็นคนหลายกลุ่มลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตนพอทำได้ ชวนกันทำ ไม่ว่าจะออน์ไลน์ บนถนน ที่หน้าสถานทูต —- เราแต่ละคนจะแผลงอำนาจจิ๋วในตนในวิธีการรูปแบบไหนบ้าง ข้าราชการผู้หวังดีต่อชาติ ตำรวจน้ำดี ทหาร พนักงานบริษัท (ท่านได้โอกาสแสดงความสร้างสรรค์เรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โรงเรียน นักเรียน ครู มหาวิทยาลัย อาจารย์ พ่อค้า แม่ขาย และทุกคนที่เป็นผู้มี่ส่วนสร้างชาติ  —- ท่านจะแสดงออกอย่างไรเพื่อขับไล่ “ราหู” ที่กำลังจะอมความดีงามในแผ่นดิน

ถึงตรงนี้ คิดถึงกวีบทหนึ่ง “I hear America Singing” ของ วอลท์ วิทแมน กวีชาวอเมริกันในยุคสร้างชาติ โดยย่อแล้ว วิทแมนกล่าวสรรเสริญ ผู้คนทุกหมู่เหล่าที่มีส่วนสร้างสังคม ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ คนเรือ คนทำรองเท้า คนสร้างอาคาร แม่ แม่บ้าน แต่ละคนขับขานบทเพลงต่าง ๆ กัน แต่ทุกบทเพลงประสานกันเป็นอเมริกา

I hear America singing, the varied carols I hear,

Those of mechanics, each one singing his as it should be blithe and strong,

The carpenter singing his as he measures his plank or beam,

The mason singing his as he makes ready for work, or leaves off work,

The boatman singing what belongs to him in his boat, the deckhand

singing on the steamboat deck,

The shoemaker singing as he sits on his bench, the hatter singing as he stands,

The wood-cutter’s song, the ploughboy’s on his way in the morning, or

at noon intermission or at sundown,

The delicious singing of the mother, or of the young wife at work, or of

the girl sewing or washing,

Each singing what belongs to him or her and to none else,

The day what belongs to the day—at night the party of young fellows,

robust, friendly,

Singing with open mouths their strong melodious songs.

หัวใจแห่งการฟัง

ยิ่งนานวัน ยิ่งตระหนักว่า ฟัง เป็นทักษะที่สำคัญยิ่ง

ฟัง … ให้กำเนิดปัญญา เห็นทางออกและทางใหม่

ฟัง … เชื่อมสัมพันธ์ ครอบครัว เพื่อน พันธมิตร เครือข่าย

ฟัง … หลอมความรู้สึกร่วมกับสรรพสิ่ง อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในตน และขยายสู่การกระทำภายนอก

รำพึงถึงตรงนี้ ใบหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (ในฝ่ายหญิง คือ เจ้าแม่กวนอิม) ท่านเป็นพระผู้สดับตรับฟังเสียงของสรรพสัตว์และยื่นมือออกไปช่วยเหลือในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ (รูปเจ้าแม่กวนอิมพันมือ) เรื่องนี้สะท้อนชัดว่า การฟังด้วยสติ ปัญญาและหัวใจ นำทางไปสู่ปฏิบัติการคลี่คลายทุกข์ของสรรพชีวิต

 ————————————–

หูสองข้างประกบกันเป็นหัวใจ

หูสองข้างประกบกันเป็นหัวใจ

นี่คือ หนึ่งในเรื่องราวย่อย ๆ ที่เป็นผลานิสงส์จากการฟัง

กว่า ๗ อนุภูมิภาค ที่เราเดินทางไปเรียนรู้ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับประสบการณ์การเคลื่อนไหวท้องถิ่นจัดการตนเอง เราได้ยิน ได้ฟังเรื่องราวต่าง ๆ จากหลากผู้คนที่ทำงานในพื้นที่ ทำงานขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เราเห็นโลกผ่านประสบการณ์เรื่องเล่าของพวกเขา ทำให้เราเข้าใจสังคมมากขึ้น เข้าใจทุกข์ปัญหา ที่พี่น้องร่วมสังคมกำลังเผชิญ

ล่าสุด ในเวทีภาคตะวันตก วันแรก เรานั่งล้อมวงกัน ๔ คน แนะนำตัวและแสดงความเห็น ความรู้สึกต่อเรื่อง พลังของคนเล็กคนน้อยในสังคมว่า เราเชื่อไหมว่า เป็นพลังสำคัญในการสร้างสรรค์สังคม

ทุกคนสนทนาอย่างมีพลัง ผลัดกันพูด ตั้งใจฟัง เปิดใจเข้าหากัน — ในบรรยากาศเช่นนี้ มิตรภาพก่อเกิด แล้วเรื่องราวต่าง ๆ ที่ออกมาจากปากผู้พูด ก็ไหลเข้าหัวใจของผู้ฟังได้อย่างง่ายดาย

หนึ่งในเรื่องเล่าที่กระทบหัวใจเรา จนนำไปสู่การคิดเปลี่ยนแปลงตนเอง มาจากเพื่อนอาสาสมัครจากจังหวัดราชบุรี เธอเล่าถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศที่เป็นผลกระทบจากโรงไฟฟ้าในจังหวัด เธอบอกว่าเวลาฝนตก หากรองน้ำฝนในขันสังกะสี แช่ไว้ ๓ วัน จะเห็นว่าขันผุจนทะลุ!

“แล้วผู้คนอยู่กันอย่างไร เวลาฝนตก ไม่ต้องขังตัวเองในบ้านหรืออาคารกันหรอกหรือ?” เราถาม

ผู้คนก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับฝนพิษ ที่ผ่านมาการประท้วงไม่เป็นผล เพราะมีข้ออ้างปิดปากคน “ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้า ก็จะไม่มีไฟฟ้าใช้กันนะ เพราะไฟไม่พอ” นอกจากนั้นก็ยังมีเงินชดเชยแลกกับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ต้องเสี่ยง ซึ่งเธอบอกว่า คนในพื้นที่เสี่ยงนี้มีภาวะภูมิแพ้กันมาก

ที่นี่ ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากขยะอีก ทั้งขยะในเมืองและขยะนำเข้าจากต่างถิ่น หลายพื้นที่ถูกใช้เป็นแหล่งฝังกลบขยะ ซึ่งมีขยะพิษรวมอยู่ด้วย บางแห่งขุดหลุมลึก จนเสี่ยงว่าจนกระทบกับน้ำใต้ดิน หรือบางครั้ง แม้ไม่ลึก แต่เวลาฝนตก น้ำที่ไหลผ่านชั้นดิน ผ่านขยะก็อาจจะนำพาเอาสารพิษลงไปเก็บไว้ในน้ำใต้ดิน — ดินเป็นพิษ น้ำเป็นพิษ ผลผลิตผักและผลไม้ที่ชาวนา ชาวไร่ปลูก สู่ผู้บริโภคก็เป็นพิษ

อาสาสมัครราชบุรีคนนี้ยังสะท้อนด้วยว่า ชาวไร่ที่ตำบลหนึ่งที่ปลูกผักในพื้นที่เสี่ยงพิษเช่นนี้ จะไม่บริโภคผลผลิตทางการเกษตรของตน แต่จะส่งไปจังหวัดอื่น ๆ

ยังไม่พอ ยังมีเรื่องที่เอกชนกว้านซื้อที่ดินนับพันไร่ เพื่อสร้างโรงเลี้ยงหมู ไก่ เป็ด — ไม่เพียงเรื่องกลิ่น แต่ยังเป็นเรื่องการบำบัดของเสียและความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนในน้ำด้วย

ชาวบ้านได้รวมตัวกันยื่นฟ้ององค์อิสระที่เกี่ยวข้อง แต่หน่วยงานนั้นบอกว่า “เหตุ (ที่เกรงว่าจะร้าย) ยังไม่เกิด ไม่อาจรับเรื่องได้” ชาวบ้านบอกว่า “รู้สึกเจ็บใจมากที่ได้ยินอย่างนี้ จะรอให้เรื่อง — ความเสียหาย เกิดก่อนหรืออย่างไร เราป้องกันไม่ดีกว่าตามแก้ปัญหาหรอกหรือ”

เราได้ยินเรื่องราวเช่นนี้จากคนทำงานขับเคลื่อนสังคมที่นครนายกเช่นกัน คุณหมอท่านหนึ่งที่ทำงานกับชุมชน รณรงค์ขอให้เอกชน องค์กรต่าง ๆ ทบทวนการสร้างโรงเลี้ยงไก่ ใกล้ต้นน้ำจังหวัดนครนายก กลุ่มนี้ได้ยื่นเรื่องกับองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ก็ได้รับคำตอบคล้ายกัน คือ ปัญหายังไม่เกิด สิ่งที่เรากังวลเป็นเพียงความคาดเดา ซึ่งอาจไม่เกิดก็ได้

เรื่องเล่าของพวกเขาเขย่าจิตสำนึกและหัวใจเรา

ไฟฟ้าที่เราใช้มีราคาสุขภาพและชีวิตของเพื่อนร่วมชาติแฝงอยู่ในนั้น (ซึ่งราคานี้ยังไม่ได้นับรวมเข้าไปในค่า FT)

ขยะที่เราสร้าง เราไม่ต้องการ เหม็น สกปรก เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค เราปัดออกไปกองไว้ในบ้านเพื่อน

น้ำที่เราดื่ม-ใช้ ผัก ผลไม้ ข้าว ปลา ที่เรากิน มากจากแหล่งน้ำเดียวกัน แม่น้ำ ลำธาร ใต้ดิน — ทุกสิ่งที่เรากระทำต่อธรรมชาติหมุนเวียนย้อนกลับมาหาเรา

ฟังแล้วสะท้อนใจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ มีเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย

เราจะสุขบนความทุกข์ของเพื่อนหรือ? เราจะดูแลเพื่อนร่วมชาติของเราอย่างไร ? เราจะดูแลเพื่อนและบ้าน (โลก) ของเราอย่างไร ?

เราเริ่มคิดถึงโครงการกิจกรรมบางอย่างที่ “น่าทำ ควรทำ และต้องทำ” ทั้งในระดับส่วนตัว และร่วมรณรงค์ในระดับส่วนรวม เพื่อดูแลปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ และปัญหาอื่น ๆ ด้วย

ถอดความรู้จากประสบการณ์เล็ก ๆ นี้ เราเห็นว่า ความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุข นั้นเป็นความรู้สึกที่มีพลัง นำไปสู่ปฏิบัติการบางอย่างได้ เพราะเมื่อคนเรารู้สึกเป็นเพื่อนกัน เราก็พร้อมหรืออยากจะร่วมทุกข์ ปันสุขกันกับเพื่อนของเรา

แล้วความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ความรู้สึกเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ (ในกรณีนี้) เกิดจากอะไร

เราสรุปสั้น ๆ ในขั้นนี้ว่า มาจากการจัดกระบวนการสนทนาที่งดงาม นำด้วยคำถามที่ลุ่มลึก ที่สำคัญ รับฟังกันด้วยหัวใจ

 

 

สภากระทะดำ (Blackened Pan Council)

สภากระทะดำ เป็นสภาที่มีความแตกต่างอย่างลิบลับกับสภาข้าง ๆ สวนสัตว์ในกรุงเทพ

สภากระทะดำไม่ใช่สภาแห่งอำนาจ แก่งแย่งแข่งขัน แต่เป็นสภาแห่งความรัก ความเอื้ออาทรต่อกันและสังคม  

กิจกรรมศิลปะ แปรจุดอ่อนเป็นพลังสร้างสรรค์

กิจกรรมศิลปะ แปรจุดอ่อนเป็นพลังสร้างสรรค์

ผู้ให้กำเนิดสภาสภาที่มีเกียรติแห่งนี้ คือ กลุ่มชายรักชายและกะเทย รวมกับเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ HON (Health and Opportunity Network) จำนวน กว่า 18 ชีวิต จากเมืองพัทยา พวกเขาได้มาเข้าร่วมกระบวนการเสริมพลังที่ฉันได้โอกาสในการทดลองนำเสนอ

สำหรับผู้ทำกระบวนการเสริมพลัง Empowerment ฉันร่างกิจกรรมไว้คร่าว ๆ และน้อมใจให้แต่ละก้าวของกระบวนการนำทางว่า จะพาเราทุกคนไปในทิศทางใด ฉันมองว่า ผู้ที่นำกระบวนการอบรมตัวจริง คือ ผู้เข้าร่วมอบรมนั่นเอง ฉันเป็นเพียงผู้คัดท้ายเรือ พาผู้โดยสารไปยังฝั่งที่เขาปรารถนา และฉันก็ได้พบจุดหมายไปพร้อม ๆ กับผู้เข้าอบรมทุกคน เป็นจุดหมายที่เราไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น แต่เป็นจุดหมายที่เราค้นพบว่า เราจะเดินทางต่อจากนี้ไปด้วยกัน

ในช่วงเวลา 2 คืน 3 วัน ที่บ้านดาหลา รีสอร์ท อัมพวา เราร่วมกิจกรรมกันหลายอย่าง ทั้งสนทนาอย่างลุ่มลึกเปิดใจ ชมภาพยนตร์ กิจกรรมศิลปะ ท่องเที่ยวนอกสถานที่ เช่น ค่ายบางกุ้ง โบสถ์ปกโพธิ์ที่มีชื่อเสียง ตลาดน้ำอัมพวา และที่สำคัญ บ่ายวันหนึ่ง เราไปเยี่ยมคุณลุงชาวสวนคนหนึ่ง เพื่อรับรู้วิถีเศรษฐกิจพอเพียง

ที่นี่ คุณลุงเล่าเรื่อง “สภากาดำ” ให้พวกเราฟัง “ทุกเช้า ลุงจะต้มน้ำไว้บนเตาถ่านนี่แหละ เห็นกาน้ำดำ ๆ นั่นไหมละ ใครก็ตามที่มา จะชงชา กินกาแฟ นั่งคุยกัน แบ่งปันสารทุกข์สุขดิบ ใครอยากมาตอนไหน คุยอะไรก็มา เป็นพื้นที่ชีวิตของชุมชนเรา”

พื้นที่สนทนาที่มีชีวิตชีวาแห่งนี้ได้หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะในชีวิตให้กันและกัน และหลายครั้งก็เป็นตลาดแบ่งปันผลผลิตที่เหลือเฟือให้กันด้วย”

“เอากล้วยไป มะละกอเอาไป อยากได้อะไร เดินไปเก็บเลยลูก” ลุงบอกเราก่อนกลับ

คาดไม่ถึงว่า “สภากาดำ” จะสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้พี่น้อง HON จากพัทยา

เพียง 2 คืน 3 วัน มิตรภาพ ความรู้สึกเป็นพี่น้อง เป็นพวกเดียวกันก็เบ่งบาน กิจกรรมวันสุดท้าย ฉันให้ทุกคนแบ่งกลุ่มคุยต่อยอดจากการคุยที่ผ่าน ๆ มาว่า เราจะกลับไปทำอะไร เพื่อให้เราได้เดินไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนา ซึ่งก็มากมายหลากหลาย เช่นอยากทำสื่อ อยากให้สาธารณะมีมุมมองที่ดีกับคนกลุ่มนี้ หลายคนบอกว่า เราจะทำสหกรณ์ เหมือนสัจจะออมทรัพย์ เพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของกลุ่ม

ความคิดนี้เข้าท่า แต่คงต้องใช้เวลาและเงื่อนไขหลายอย่าง อาทิ ความรู้ ทักษะ กว่าจะทำให้เป็นจริง ฉันให้กำลังใจทุกคนว่า เราตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ได้ แต่ค่อย ๆ ก้าวไปทีละก้าว ให้แต่ละก้าวพาเราไปสู่เป้าหมายนั้น ฉะนั้น ตอนนี้ที่สำคัญ คือ การรวมกลุ่มกัน เรียนรู้ และทำงานร่วมกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นก่อน เพราะความเป็นสหกรณ์ไม่ใช่รูปแบบเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจิตวิญญาณของการรวมกลุ่มด้วย ความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งฉันเสนอให้ชาวสภากระทะดำจัดสรรเวลาพบปะสนทนากันอย่างไม่เป็นทางการอย่างสม่ำเสมอ มีกิจกรรมทำร่วมกัน เพราะพื้นที่การสื่อสารสนทนากันอย่างไม่เป็นทางการนี่เอง เป็นเบ้าหลอมมิตรภาพ จิตใจ และความเป็นทีม (team work) ที่หลายองค์กรทำงานปรารถนา แต่ทำไม่ค่อยได้ เพราะติดกับรูปแบบ ระเบียบ พิธีกรรมทางการ 

ทุกคนเริ่มคุยกันอย่างออกรสว่า กลุ่มเราจะชื่ออะไร ทำอะไร วางกติกา ดูแลกันอย่างไร ฯลฯ

“สภากระทะดำ” เป็นชื่อที่ทุกคนตกลงในเบื้องต้นว่า จะใช้เป็นชื่อกลุ่ม สมาชิกผู้เป็นที่รักและนับถือของกลุ่มเสนอชื่อนี้ไปก่อน และอธิบายที่มาของ “กระทะดำ” ว่าเธอเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่พัทยาด้วยกระทะดำ ๆ และเตา ทำอาหารตามสั่ง จนอยู่ได้และมีกินถึงทุกวันนี้ — กระทะดำ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยความพากเพียรและอดทน

“พวกเราเป็นคนเก่ง พวกเราเป็นคนสร้างสรร และพวกเราเป็นคนขยัน” เป็นคำขวัญประจำกลุ่ม ที่ทุกคนท่องพร้อมกัน 3 ครั้ง ก่อนจากกัน

หลังจากการอบรม สภากระทะดำ เปิดหน้าเฟสบุ๊คเป็นพื้นที่ติดต่อสื่อสารกัน และยังนัดพบปะพูดคุย ร้องเพลง กินข้าวกัน

แลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันอย่างเห็นหน้าเห็นตาด้วย

ชาวสภากระทะดำยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการทำกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ สุขภาะทางเพศให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ อย่างล่าสุด ก็ช่วยรณรงค์เรื่องถุงยางอนามัยผู้หญิง

นอกจากนั้น ชาวสภากระทะดำยังเป็นอาสาทำกิจกรรมระดมทุนให้ HON ด้วย ผู้สื่อข่าวภาคสนามของ ฯ รายงานให้ฟังว่า ในการจัดทัวร์ท่องเที่ยววัดที่อยุธยา ชาวสภาฯ ช่วยกันบรรจุอาหารสำหรับลูกทัวร์ และเมื่อที่นั่งบนรถทัวร์ไม่พอ ชาวสภาก็เสียสละตั๋วนั่ง เป็นตั๋วยืน เพื่อให้สมาชิกใหม่ได้นั่ง อาสาเป็นไกด์ และคอยดูแลผู้ร่วมทาง นอกจากนั้น ยังระดมทุนจากลูกทัวร์ เพื่อนำเงินไปสนับสนุนอาหารกลางวันเด็ก ที่สถานสงเคราะห์ในพัทยา

สมาชิกสภากระทะดำบางคนยังเปรยอีกว่า พวกเราชอบไปเที่ยววัด ก็น่าจะอาสาทำความสะอาดห้องน้ำที่วัดกันด้วย ประมาณ ไหว้พระแล้วก็จับแปรงขัดส้วมกัน

ฉันมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชาวสภากระทะดำ

ความน่ารักของเขา และมิตรภาพของเรายังผลิบานจนปัจจุบัน

ชุมชนนักปฏิบัติการเพื่อสังคม Community and network of practice

ในเวทีอบรมเสริมศักยภาพ (ทางการเมืองภาคประชาชน) เราจะได้ยินเสียงบอกเล่าความปีติใจ ความรู้สึกฮึกเหิม พร้อมกลับไปทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม อาทิ “รู้สึกมีพลัง ได้กำลังใจในการทำงานหนัก ๆ เรื่องยาก ๆ รู้สึกมีเพื่อนร่วมทาง ได้เพื่อนและรู้จักคนในเครือข่ายต่างๆ รับรู้ความคิดใหม่ ๆ ได้กระบวนการ วิธีการที่จะเป็นประโยชน์ในการทำงานต่อไป”

เหมือนพลุแตกบนท้องฟ้าคืนเดือนมืด ช่วงเวลาเรียนรู้ในเวทีเสริมศักยภาพ กระบวนการสนทนา บรรยากาศ และผู้คนดูหมือนจะมีพลังดึงดูด และเหนี่ยวนำซึ่งกันและกัน ทำให้หัวใจชื่นบาน

น่าเสียดายว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นสว่างวาบชั่วครู่ แล้วก็วูบหาย กลืนกลับเข้าไปในจังหวะชีวิตจำเจ  (mundane) นื่จึงเป็นความท้าทายสำคัญของนักทำงานเพื่อสังคม — เราจะรักษาพลัง ความต่อเนื่องในการเรียนรู้ได้อย่างไร

ฉันนึกเทียบเคียงกับประสบการณ์แสนวิเศษอื่น ๆ อย่างที่เกิดขึ้นในคอร์สปฏิบัติภาวนา

ฉันเคยเข้าร่วมการปฏิบัติภาวนาในคอร์สของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นและจุดขาย (trademark) ในคอร์สการอบรมของท่าน คือ สังฆะ Community of practice

ในการอบรมไม่ว่าจะระยะสั้นหรือยาว กระบวนการที่ทุกคนจะได้เรียนรู้เป็นลำดับ เริ่มจากการอยู่กับตัวเอง รู้ตัวมีสติตามลมหายใจ สติรู้ตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน นับแต่ เดิน กิน ล้างจาน ทำงาน เป็นต้น จากการมีสติรู้อยู่กับตัวเอง ลำดับต่อไปก็เป็นการมีสติรู้ตัวเมื่ออยู่และสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะเป็นเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง และการพูดด้วยหัวใจรักและกรุณา — ซึ่งทั้งหมดนี้ท่านยังได้รวมการมีสติรู้ตัวในข่ายใยความสัมพันธ์กับสรรพชีวิตด้วย ธรรมชาติ สัตว์ต่าง ๆ ด้วย

เมื่อคนเริ่ม”ชิน” และ “อิน” กับแนวทางการปฏิบัติ และได้ลิ้มชิมรสแห่งสันติในเรือนใจ อันเป็นผลจากการปฏิบัติแล้ว ก่อนสิ้นสุดการอบรม หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ ย้ำให้เราเห็นความหมายและความสำคัญของการรักษาความสุขภายในและพลังแห่งสติ ด้วยพลังและการเกื้อกูลจากกัลยาณมิตร หรือ สังฆะ หรือชุมชนคนปฏิบัติที่มีความมุ่งหมาย เป้าหมาย กระบวนการ และวิธีการเดียวกัน

ก่อนที่เราจะแยกย้ายกันไปตามวิถีของแต่ละคน เรารวมตัวกันในหมู่ผู้ที่พอรู้จักและเห็นประโยชน์ของสิ่งนี้ และคุยกันว่า เราอยากจะรักษาพลังจากการปฏิบัติหรือไม่ และจะทำกันอย่างไร เพื่อบำรุงหล่อเลี้ยงการปฏิบัติ ความเข้าใจธรรมะ วิถีแห่งสติในชีวิตประจำวันได้

ผู้คนจำนวนหนึ่งนัดหมายกันว่าจะมาปฏิบัติร่วมกัน เดือนละครั้ง จะเอาวันไหน ที่ไหนกันดี และในแต่ละครั้ง จะทำอะไรกันบ้าง ซึ่งเราก็ได้โครงร่างกิจกรรมในการมาร่วมกันปฏิบัติกันระดับหนึ่ง คือ การพิจารณาศีล พิจารณาอาหาร และรับประทานอาหารร่วมกัน สนทนาธรรม (ก็คือการพูดคุยกันฟังและแลกเปลี่ยนกันอย่างลึกซึ้ง)

การวางระบบ โครงสร้างที่เอื้อให้นักปฏิบัติมารวมตัวกันอย่างสม่ำเสมอ ทบทวนเป้าหมาย ความหมายของชีวิตและการทำงานช่วยประคับประคองหัวใจและพลังของทุกคน รวมไปถึงเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้กันในทางปฏิบัติอีกด้วย เป็น learning and practicing community

ห้วงเวลาที่พบปะกันเดือนละครั้ง หรือ สองเดือนครั้งเป็นห้วงจังหวะที่ค่อนข้างเหมาะสม เพราะจากประสบการณ์ในการเข้าร่วมการอบรมและคอร์สภาวนาที่ผ่าน ๆ มา จะสังเกตว่า กราฟพลังความเบิกบาน และแรงฮึกเหิมในการทำงานที่เกิดขึ้นระหว่างการอบรม จะเริ่มตกเมื่อเวลาผ่านไปสัก 3 -6 อาทิตย์ (ขึ้นกับแต่ละบุคคล และสภาพแวดล้อมในชีวิต) นั่นหมายความว่า ชุมชนนักปฏิบัติต้องมีระบบในการ “ช้อนพลัง” ให้กลับขึ้นมาใหม่

ย้อนมามองนักปฏิบัติการทางสังคม เรามีชุมชนคนทำงานเพื่อสังคมหรือไม่? ชุมชนนักปฏิบัติการทางสังคมหล่อเลี้ยงความปีติใจของนักทำงานเพื่อสังคมอย่างไร เราจะใช้กระบวนการใด กิจกรรมอะไร ทั้งในโลกความเป็นจริง และโลกเสมือนจริง (ออนไลน์) เพื่อประคับประคองพลังใจและการเรียนรู้ในหมู่นักปฏิบัติการทางสังคม

ฉันยังคงเดินแสวงหาคำตอบ … จากการลงมือทดลองปฏิบัติ